วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กฎหมายลงโทษหนักเมาแล้วขับในญี่ปุ่น ลดอุบัติเหตุทางถนนได้ถึง 70% จริงไหม ??

              จากการถอดบทเรียนผลการดำเนินงานอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยปี 2560 พบว่าแม้จำนวนครั้งและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง แสดงให้เห็นว่าดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุลดลง และการดำเนินมาตรการควบคุมความเสี่ยงได้ผลในระดับหนึ่ง  แต่ยังมีปัจจัยสำคัญจากความร่วมมือของผู้ใช้รถใช้ถนนในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร รวมทั้งการเข้มงวดกวดขันวินัยจราจรอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน 




              สาเหตุหรือสันนิษฐานมูลเหตุเบื้องต้นของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเมาสุรา ขับรถเร็ว รถจักรยานยนต์ และยังพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เนื่องจากไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย สะท้อนให้เห็นว่า แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้กำหนดมาตรการและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเพิ่มขึ้นแล้ว แต่การขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนนและพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ
              ฐานข้อมูลอุบัติเหตุย้อนหลังพบว่า บริเวณสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบนถนนในเขตชนบท 47-51 เปอร์เซ็นต์ และถนนในเขตเมืองร้อยละประมาณ 20-22 ประเภทของยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุดคือรถจักรยานยนต์มากกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับพาหนะทั้งหมด
              คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ญี่ปุ่น  ได้สรุปบทเรียนการจัดการความปลอดภัยทางถนนในประเทศญี่ปุ่น คือ เมื่อก่อนนี้ประเทศญี่ปุ่นก็ประสบกับปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ต่างจากประเทศอื่นในแถบเอเชีย  สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ คือ การเมาแล้วขับ  สมัยก่อน กฎหมายที่ใช้ลงโทษคนเมาแล้วขับของประเทศญี่ปุ่นไม่มีบทลงโทษที่รุนแรง 
              แต่มีเหตุอุบัติเหตุครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่คนขับรถบรรทุก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถขึ้นทางด่วน แล้วชนท้ายรถเก๋งที่มากันทั้งครอบครัว ส่งผลให้รถคันนั้นเกิดไฟลุกไหม้ เด็ก 2 คน และครอบครัวที่ถูกรถสิบล้อชนถูกไฟคลอกจนเสียชีวิต แต่ผู้ก่อเหตุกลับถูกลงโทษจำคุกแค่ 4 ปี ในข้อหาประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ต่อมาเกิดอุบัติเหตุที่คนเมาไม่มีใบอนุญาตขับรถ รถไม่มีประกันอุบัติเหตุ และไม่มีการตรวจสภาพ ขับรถชนนักศึกษาที่เดินอยู่บนทางเท้าเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ผู้ก่อเหตุถูกตัดสินจำคุก 5 ปี 6 เดือน ในข้อหาเดียวกัน  
                 จาก 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น และอีกหลายๆ กรณีของอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ ผู้ก่อเหตุนั้นๆ กลับได้รับโทษเพียงน้อยนิด ทำให้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมญี่ปุ่นอย่างหนัก จนนำมาสู่การปรับปรุงและแก้ไขกฏหมายการเมาแล้วขับจาก ข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นข้อหา “ก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความประมาท ” ซึ่งผู้ก่อเหตุมีโทษจำคุก 15 ปี ในกรณีที่ทำให้เหยื่อบาดเจ็บ และจำคุกอีก 20 ปี ในกรณีที่ทำให้เหยื่อเสียชีวิต 
                และผู้ที่โดยสารมาด้วย ก็จะถูกจำคุกลดหลั่นลงไปในข้อหา "ให้ความช่วยเหลือการขับรถที่อันตรายโดยไม่ยับยั้งและให้การสนับสนุน"  นอกจากนี้เจ้าของร้านอาหารที่คนเมาแล้วขับไปใช้บริการ ก็จะถูกดำเนินคดีด้วยในข้อหา "เสิร์ฟเหล้าไม่ยังยั้ง"  หลังจากที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายเมาแล้วขับ ทำให้สถิติของอุบัติเหตุจราจรที่เกิดจากเมาและขับลดลง จากเดิมในปี คศ.1960 มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 25,400 คนต่อปี แต่ในปี ค.ศ.2,000 มีผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 7,558 คนต่อปี หรือลดลงกว่าร้อยละ 70
               สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในประเทศไทย คือสถิติการดื่มแอลกอฮอล์ ที่คนไทยนั้นเป็นนักดื่มระดับต้นๆ ในภูมิภาค เฉลี่ยดื่มเหล้า 8 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งเท่ากับว่าคนไทยทั้งประเทศจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 560 ล้านลิตร ซึ่งเป็นสถิติที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นหากประเทศไทยแก้ปัญหาการดื่มนี้ได้  ก็จะสามารถลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในท้องถนนได้ด้วย
                ในประเทศไทยกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินความผิดกับบุคคลที่เมาแล้วขับ คือ กฎหมายอาญามาตรา 291 ที่ลงโทษจำคุกบุคคลที่เมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และในมาตรา 300 บุคคลที่เมาแล้วขับ จนส่งผลให้บุคคลอื่นบาดเจ็บสาหัส  มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 พันบาท  ซึ่งเป็นโทษที่น้อยมากๆ คล้ายกับกฏหมายของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเมื่อกว่า 57 ปีที่แล้ว

ที่มา :  1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ,การสัมมนาระดับชาติเรื่อง ความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 10 “ หัวข้อ  “การเดินทางปลอดภัย ไม่ไกลเกินฝัน” , สืบค้นเมื่อ 11 ต.ค.2560
          2. การประชุมวิเคราะห์สรุปผลการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กระทรวงมหาดไทย , สืบค้นเมื่อ 11 ต.ค.2560
ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น