วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

บทความทางวิชาการ ตอน กังวลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเมืองใหญ่ จะทำอย่างไรดี?


ความเป็นมา

   ปี 2559 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าทั่วโลกในแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เฉลี่ยวันละ 1 ล้านคน หรือปีละ 357 ล้านคน  สำหรับประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค รายงานว่าในช่วงปี 2555 - 2560 มีอัตราป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คิดเป็น 28.9 ต่อแสนประชากร  กลุ่มเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง (143.44 ต่อประชากรแสนคน) กว่าทุกช่วงอายุ 


โดยจำแนกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เรียงตามลำดับจำนวนผู้ป่วยมากไปหาน้อย 3 โรค คือ โรคหนองใน โรคซิฟิลิส โรคแผลริมอ่อน  โดยผลสำรวจพบอัตราการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดกับแฟนหรือคนรัก ในกลุ่มนักเรียนชั้น ม.5 ลดลง แต่กลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษา (ปวช. 2) เพิ่มขึ้น


         รายงานประจำปี 2558 กลุ่มระบาดวิทยาฯ สคร.2 พิษณุโลก พบว่าในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง มีผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำนวน  890 ราย คิดเป็น 25.4 ต่อแสนประชากร  เป็นเพศชาย 683 ราย เพศหญิง 207 รายอัตราส่วนชายต่อหญิง 3.3 : 1 ช่วงอายุป่วยสูงสุดคือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 25-34 ปี ตามลำดับ      
    ในเขต 5 จังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง มีสัดส่วนผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเขตเมืองใหญ่มากกว่าประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยรวมทั้งจังหวัด จึงยังมีประชาชนในเขตเมืองใหญ่อีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงบริการในการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อรับทราบสถานะความเจ็บป่วยของตนเอง          


ผลกระทบ
       โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infections : STI) มี 5 โรคหลัก ได้แก่ ซิฟิลิส หนองใน กามโรคของต่อมและต่อมน้ำเหลือง หนองในเทียม และแผลริมอ่อน ส่วนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้แก่ เริมที่อวัยวะเพศและทวารหนัก หูดอวัยวะเพศและ ทวารหนัก พยาธิช่องคลอด  โรคนี้เกิดจากการติดต่อผ่านทางการเพศสัมพันธ์ ทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก กับผู้ที่เป็นโรคหรือผู้ติดเชื้อ โดยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์


        บางช่วงของปีเป็นช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความรักที่อบอวลไปด้วยความสุขในการแสดงถึงความห่วงใยถึงคนที่เรารักหรือปรารถนาดี คู่รักวัยรุ่นบางส่วนอาจจะแสดงออกโดยการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งโดยทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งหากมิได้ป้องกันก็มีโอกาสรับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ได้ ทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรค การติดเชื้อโรคนี้ในเพศหญิงส่วนใหญ่มักไม่ปรากฏอาการ  แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อให้กับคู่นอนได้ รวมทั้งอาจมีการท้องไม่พร้อม และผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย       
        ในปัจจุบันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ แนวโน้มอัตราป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีได้  เพราะผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวี จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย มากกว่าคนทั่วไป 5-9 เท่า  ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์เป็นโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างมาก การดูแลรักษา และการป้องกันควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดการแพร่กระจาย เชื้อเอชไอวีได้อีกทางหนึ่ง         
  
 
นวัตกรรมความสำเร็จ
        ปัจจุบันเข้าสู่ยุคสังคมดิจิตอล 4.0 ดังนั้น สคร.2 พิษณุโลก จึงได้พัฒนา “ระบบตรวจสุขภาพทางเพศออนไลน์ด้วยตนเอง” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงบริการเชิงรุกการคัดกรองความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้น  
         โดยเพียงใช้โทรศัพท์มือถือ Smartphone ระบบ Android หรือ IOS เปิด Application LINE จากนั้นไปเมนูเพิ่มเพื่อน แล้วแสกนภาพคิวอาร์โค๊ด (ตามภาพ) หรือจะไปโดยตรงที่ลิ้ง https://t.co/X7tf7iww2s จะสามารถเข้าสู่ระบบได้ด้วยตนเองทันที จากนั้นตอบแบบประเมินออนไลน์ จำนวน 15 ข้อคำถามทางพฤติกรรม ใช้เวลาทำประมาณ  2 ถึง 5 นาที เมื่อให้ข้อมูลครบทุกข้อแล้ว ระบบจะแสดงผลเป็นตัวเลขร้อยละทันที และจัดระดับว่าผู้ประเมินตนเองนั้นมีความเสี่ยงน้อย เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงมาก หรือเสี่ยงมากที่สุด 
            ถ้าผลออกมาว่าเสี่ยงมาก และมากที่สุด จะมีคำแนะนำอัตโนมัติ ถึงสถานที่ตรวจสุขภาพทางเพศแบบปกปิด เพื่อยันยันให้แน่ชัดทางวิทยาศาสตร์อีกครั้ง พร้อมมีคำแนะนำที่ถูกต้องด้านสุขภาพทางเพศ โดยผู้ตอบแบบประเมินออนไลน์นี้จะไม่รู้สึกกระดากอายต่อผู้อื่น  เนื่องจากไม่ต้องเปิดเผยความลับของตน สามารถให้ข้อมูลตามจริงได้มากที่สุด เปิดโอกาสให้รับทราบสถานะความเสี่ยงทางสุขภาพทางเพศของตนเองได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย  ส่งผลให้มีความตระหนักในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรค ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  รู้วิธีการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยตนเองได้อย่างถูกต้อง  


บทสรุปเพื่ออนาคต
           เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย  หมายถึง เมื่อคู่รักตกลงปลงใจที่จะมีเพศสัมพันธ์กัน ก็ควรเป็นเพศสัมพันธ์ที่อยู่บนความรับผิดชอบต่อกันและกัน ต่อสังคม และเป็นเพศสัมพันธ์ที่ต้องปลอดภัยเสมอ   ถุงยางอนามัย คือ อุปกรณ์ในการป้องกันโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันมีทั้งถุงยางอนามัยสำหรับชาย และสำหรับหญิง สามารถป้องกันติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี และป้องกันการตั้งครรภ์ได้ นับเป็นวิธีการป้องกันที่นิยมและได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่ง  ทุกคนจึงควรต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่มีความเสี่ยง และทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก หรือทางปาก  


            ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำต่อบุตรหลานที่อยู่ในวัยเยาวชนอย่างสม่ำเสมอ
  ว่าการแสดงความรักต่อกันเป็นสิ่งที่ดี เป็นความงดงาม แต่จะต้องมีความรับผิดชอบ อีกทั้งการแสดงความรักนั้น สามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์กันก็ได้ เช่น การให้สิ่งของต่อกัน ดอกไม้ การ์ดหรือคำอวยพร และที่สำคัญที่สุดอย่าให้ความรักที่มีต่อแฟนหรือคู่รัก มีอิทธิพลเหนือความรักและความหวังดีที่พ่อ แม่ พี่น้อง ครูอาจารย์ ที่มีให้กับตัวของเยาวชน  และควรส่งเสริมค่านิยมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย
            แต่ถ้าไม่อาจจะหักห้ามจิตใจได้ ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์ ก็ต้องไม่ลืมป้องกันตนเองโดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพราะเป็นสิ่งป้องกันตัวเองที่ปลอดภัยที่สุดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ และการตั้งครรภ์ เปรียบเสมือนว่า "สวมเสื้อผ้าเพื่อปกป้องร่างกาย สวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรค


“รักตัวเอง รักคู่ ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง กับทุกคน และทุกช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์มีความเสี่ยง


เรียบเรียงโดย  เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ  
ข้อมูลสถิติที่มา : 1. สำนักระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค  , สืบค้นเมื่อ 12 ก.พ.2561
                         2. 
องค์การอนามัยโลก (WHO)  , สืบค้นเมื่อ 12 ก.พ.2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น