เนื่องจากขณะนี้เป็นระยะเวลาที่เข้าสู่ฤดูร้อน ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือน มีนาคม –
พฤษภาคม ของทุกปี เป็นช่วงที่อากาศในประเทศไทยมีอุณหภูมิที่ร้อนมาก ซึ่งจากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งนี้
เหมาะแก่การเจริญเติบโตและแพร่ระบาดของเชื้อโรคหลายชนิด อาจจะเกิดการระบาดของโรคติดต่อต่างๆ
ได้ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง
บิด อหิวาตกโรค
ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า
หรือโรคกลัวน้ำ
นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่างๆ หลายวัน
ประชาชนส่วนใหญ่มักจะเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ หรือกลับภูมิลำเนา และมีงานเลี้ยงฉลอง
มีการรับประทานอาหารรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก สิ่งที่พบบ่อยๆ ตามมา คือ
การเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรค อาหารไม่สะอาด
อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่เตรียมไว้ล่วงหน้าจำนวนมาก
ผลกระทบ
โรคอาหารเป็นพิษ (Food
Poisoning) เป็นโรคที่พบได้บ่อย
เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ กลุ่มอายุที่พบการป่วยโรคอาหารเป็นพิษ
มากลำดับแรก คืออายุช่วง 15 – 24 ปี อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและนักเรียน เป็นอาการที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ
ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และไข่เป็ด
ไข่ไก่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
นอกจากนี้ อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ ถ้าไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอก่อนรับประทาน
ก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้
นอกจากนี้อาหารเป็นพิษในบางรายเกิดจากสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อโรค พืชที่มีพิษ
หรือสารเคมี เช่น สารตะกั่ว ยาฆ่าแมลง เห็ดพิษ สารหนู หรือสารปรอท ฯลฯ
อาการของโรคอาหารเป็นพิษ ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน
1-2 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของเชื้อที่ร่างกายได้รับเข้าไป หรืออาจมีอาการหลังรับประทานอาหารไม่กี่ชั่วโมงหรือนานเป็นสัปดาห์หากได้รับเชื้อรุนแรง โดยจะรู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้
อาเจียนติดต่อกันหลายครั้งหรืออาเจียนเป็นเลือด
มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพัก ๆ
เนื่องจากบีบตัวของลำไส้
ถ่ายท้อง ถ่ายมีมูกหรือเลือดปน
สูญเสียน้ำ
เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หมดเรี่ยวแรง ปากแห้ง ตาโบ๋
กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย ไม่มีความอยากอาหาร ด้านระบบประสาท เช่น มองไม่ชัด
แขนเป็นเหน็บ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรครุนแรงขึ้นเรื่อย
ๆ และมีอาการต่อเนื่องนานหลายวัน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น
อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็กทารกหรือเด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ
ควรรีบพาไปสถานบริการสาธารณสุขโดยด่วน
คำแนะนำประชาชน
โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่มักอาการไม่ร้ายแรง
หากประชาชนดูแลรักษาสุขภาพอนามัยไม่ถูกต้อง
โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ได้ ประชาชนควรระมัดระวังและป้องกันโรคดังนี้
1) ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร
รับประทานอาหาร หรือก่อนเตรียมนมให้เด็ก
และภายหลังจากการเข้าห้องน้ำหรือห้องส้วมทุกครั้ง
2) ดื่มน้ำที่สะอาด หรือน้ำต้มสุก
และรับประทานอาหารที่สะอาด และสุกใหม่ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ
โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป
ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง
3) การกำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร
และสิ่งปฏิกูลรอบๆ บริเวณบ้านทุกวัน เพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
4) ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้งเพื่อไม่ให้แพร่โรคจากผู้ป่วยได้
บทสรุปเพื่ออนาคต
องค์กรและภาคส่วนต่างๆ ควรตระหนักถึงการร่วมมือกันป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง เพราะอาหารที่เรารับประทานสามารถถูกปนเปื้อนได้ทุกขั้นตอน
ตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว เตรียมอาหาร
ปรุงอาหาร การจำหน่าย ตลอดจนถึงการบริโภค
การรักษาความสะอาดจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ปลอดภัยจากโรค ดังนี้
1. การดูแลพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคล หลังสัมผัสสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคจากสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น จับราวบันได
กดปุ่มกดลิฟต์ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคต่างๆ
ฯลฯ ควรล้างมือก่อนและหลังรับประทานให้เป็นนิสัย
เพื่อช่วยป้องกันการกระจายของเชื้อโรค
2.
การบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ โดยเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่
หรือผ่านความร้อน ซึ่งช่วยฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร หากรับประทานอาหารไม่หมด
และบูดเสียง่าย เช่น แกงกะทิ อาหารทะเล
อาหารสด ฯลฯ ควรนำอาหารเก็บเข้าตู้เย็น
ไม่ควรวางอาหารทิ้งไว้ในอุณภูมิห้อง
เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ เมื่อต้องการรับประทานอีกครั้งให้นำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน หากต้องรับประทานอาหารนอกบ้านควรเลือกร้านอาหารที่สะอาด
ผู้ประกอบอาหารแต่งตัวและสถานที่ถูกสุขลักษณะ
3. การจัดเก็บและเตรียมอาหารให้ปลอดภัย ควรคำนึงถึงการดูแลรักษาความสะอาดบริเวณที่มีการเตรียมอาหาร
ปรุงอาหาร หรือเก็บอาหารให้ถูกสุขลักษณะอนามัย เช่น
การแยกเก็บเนื้อสัตว์สดจากอาหารชนิดอื่น หรือการล้างผักและผลไม้ ควรล้างให้สะอาด
ปราศจากสิ่งสกปรก ยาฆ่าแมลง สารเคมี หรือสารตกค้างต่าง ๆ หากต้องเดินทางไกลควรบรรจุอาหารในกล่องโฟมที่มีน้ำแข็ง
กระเป๋าเก็บความเย็น หรือใช้เจลเก็บความเย็น
“ ใส่ใจอาหาร กินร้อน ช้อนกลาง
ล้างมือสะอาด ปราศจากจากโรคอาหารเป็นพิษและอุจาระร่วง ”
เรียบเรียงโดย...เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น