วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

" โรคตึกเป็นพิษ " ของคนในเมือง คือ อะไร?

            สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ได้ทำการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการชุมชนต้นแบบเพื่อสุขภาวะของการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในอาคารชุด โดยการสำรวจพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยอาคารชุดในกรุงเทพฯ พบว่ามีวิถีชีวิตที่เร่งรีบตอนเช้า  กลับค่ำ  ส่งผลต่อสภาวะความเครียด ขาดปฏิสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัย ละเลยกฎการอยู่ร่วมกัน มีลักษณะครอบครัวเดี่ยวที่มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขาดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม  



           มีความเสี่ยงต่อโรคตึกเป็นพิษ (Sick Building Syndrome : SBS) คือ มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน ระคายเคืองตา เนื่องจากระบบหมุนเวียนอากาศ ฝุ่นละอองและเชื้อโรคภายในตึก  ปัญหาหลักของวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน คือ การไม่ปฏิบัติตามกฎการอยู่รวมกัน  และมีความต้องการกำหนดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อความสุขสงบ  และจากความที่ไม่รู้จักกัน ต้องการให้ผู้ดูแลคอนโดดูแลสุขทุกข์ของผู้อยู่อาศัย 
          จากการศึกษาทดลองนำร่องในพื้นที่ตึกสูง พบว่าวิธีที่ได้ผลคือการหาแกนนำในพื้นที่มาขับเคลื่อน ซึ่งอาจเป็นผู้นำกิจกรรมชุมชนอยู่แล้ว เช่น ผู้จัดการโครงการหรือนิติบุคคล โดยพัฒนาให้มีความรู้เรื่องสุขภาพที่ดีทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา ทักษะการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ทักษะการฟังเพื่อจัดการความขัดแย้ง เรียนรู้การออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและฝึกออกแบบกิจกรรมจริงในพื้นที่ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะของผู้อยู่อาศัย
     
          
การสร้างเสริมสุขภาพที่เกิดขึ้นในชุมชนอาคารชุด   ผู้อยู่อาศัยไม่ใช่แค่ผู้ร่วมกิจกรรมแต่เป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม เช่น กิจกรรมการฉีดวัคซีน การกำจัดแมลง ทำให้มีชุดความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในตึกสูงมากขึ้น และสิ่งที่ได้เสริม คือ ความขัดแย้งลดลง ผู้จัดการชุมชนได้รับการยอมรับ ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในมิติการตอบสนองเพิ่มขึ้น   ความท้าทายของการทำงาน คือ การคัดนิติบุคคลบริหารจัดการอาคารชุดที่มีทักษะการสร้างการมีส่วนร่วม พร้อมที่จะเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้เรื่องสุขภาวะชุมชน ซึ่งเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดที่ยั่งยืน
     
          
หากมีผู้ป่วยโรคระบาดเกิดขึ้นกับชุมชนแนวตั้ง  หน่วยงานสาธารณสุขก็ไม่รู้ข้อมูลและไม่สามารถเข้าไปจัดการได้หากอาคารไม่เปิดพื้นที่ ดังนั้นความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน พบว่าต้องมีการส่งเสริมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ การรักษามาตรฐานการให้บริการของเจ้าหน้าที่ และเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น หากจัดการในเมืองที่ยากอย่างกรุงเทพได้แล้วเมืองอื่นก็สามารถทำได้

ที่มา : 
โครงการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการชุมชนต้นแบบเพื่อสุขภาวะของการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในอาคารชุด , สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2560
ผู้เรียบเรียง : ภก.เชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น