วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กฎหมายลงโทษหนักเมาแล้วขับในญี่ปุ่น ลดอุบัติเหตุทางถนนได้ถึง 70% จริงไหม ??

              จากการถอดบทเรียนผลการดำเนินงานอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยปี 2560 พบว่าแม้จำนวนครั้งและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง แสดงให้เห็นว่าดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุลดลง และการดำเนินมาตรการควบคุมความเสี่ยงได้ผลในระดับหนึ่ง  แต่ยังมีปัจจัยสำคัญจากความร่วมมือของผู้ใช้รถใช้ถนนในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร รวมทั้งการเข้มงวดกวดขันวินัยจราจรอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน 




              สาเหตุหรือสันนิษฐานมูลเหตุเบื้องต้นของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเมาสุรา ขับรถเร็ว รถจักรยานยนต์ และยังพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เนื่องจากไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย สะท้อนให้เห็นว่า แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้กำหนดมาตรการและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเพิ่มขึ้นแล้ว แต่การขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนนและพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ
              ฐานข้อมูลอุบัติเหตุย้อนหลังพบว่า บริเวณสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบนถนนในเขตชนบท 47-51 เปอร์เซ็นต์ และถนนในเขตเมืองร้อยละประมาณ 20-22 ประเภทของยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุดคือรถจักรยานยนต์มากกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับพาหนะทั้งหมด
              คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ญี่ปุ่น  ได้สรุปบทเรียนการจัดการความปลอดภัยทางถนนในประเทศญี่ปุ่น คือ เมื่อก่อนนี้ประเทศญี่ปุ่นก็ประสบกับปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ต่างจากประเทศอื่นในแถบเอเชีย  สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ คือ การเมาแล้วขับ  สมัยก่อน กฎหมายที่ใช้ลงโทษคนเมาแล้วขับของประเทศญี่ปุ่นไม่มีบทลงโทษที่รุนแรง 
              แต่มีเหตุอุบัติเหตุครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่คนขับรถบรรทุก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถขึ้นทางด่วน แล้วชนท้ายรถเก๋งที่มากันทั้งครอบครัว ส่งผลให้รถคันนั้นเกิดไฟลุกไหม้ เด็ก 2 คน และครอบครัวที่ถูกรถสิบล้อชนถูกไฟคลอกจนเสียชีวิต แต่ผู้ก่อเหตุกลับถูกลงโทษจำคุกแค่ 4 ปี ในข้อหาประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ต่อมาเกิดอุบัติเหตุที่คนเมาไม่มีใบอนุญาตขับรถ รถไม่มีประกันอุบัติเหตุ และไม่มีการตรวจสภาพ ขับรถชนนักศึกษาที่เดินอยู่บนทางเท้าเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ผู้ก่อเหตุถูกตัดสินจำคุก 5 ปี 6 เดือน ในข้อหาเดียวกัน  
                 จาก 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น และอีกหลายๆ กรณีของอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ ผู้ก่อเหตุนั้นๆ กลับได้รับโทษเพียงน้อยนิด ทำให้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมญี่ปุ่นอย่างหนัก จนนำมาสู่การปรับปรุงและแก้ไขกฏหมายการเมาแล้วขับจาก ข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นข้อหา “ก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความประมาท ” ซึ่งผู้ก่อเหตุมีโทษจำคุก 15 ปี ในกรณีที่ทำให้เหยื่อบาดเจ็บ และจำคุกอีก 20 ปี ในกรณีที่ทำให้เหยื่อเสียชีวิต 
                และผู้ที่โดยสารมาด้วย ก็จะถูกจำคุกลดหลั่นลงไปในข้อหา "ให้ความช่วยเหลือการขับรถที่อันตรายโดยไม่ยับยั้งและให้การสนับสนุน"  นอกจากนี้เจ้าของร้านอาหารที่คนเมาแล้วขับไปใช้บริการ ก็จะถูกดำเนินคดีด้วยในข้อหา "เสิร์ฟเหล้าไม่ยังยั้ง"  หลังจากที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายเมาแล้วขับ ทำให้สถิติของอุบัติเหตุจราจรที่เกิดจากเมาและขับลดลง จากเดิมในปี คศ.1960 มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 25,400 คนต่อปี แต่ในปี ค.ศ.2,000 มีผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 7,558 คนต่อปี หรือลดลงกว่าร้อยละ 70
               สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในประเทศไทย คือสถิติการดื่มแอลกอฮอล์ ที่คนไทยนั้นเป็นนักดื่มระดับต้นๆ ในภูมิภาค เฉลี่ยดื่มเหล้า 8 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งเท่ากับว่าคนไทยทั้งประเทศจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 560 ล้านลิตร ซึ่งเป็นสถิติที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นหากประเทศไทยแก้ปัญหาการดื่มนี้ได้  ก็จะสามารถลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในท้องถนนได้ด้วย
                ในประเทศไทยกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินความผิดกับบุคคลที่เมาแล้วขับ คือ กฎหมายอาญามาตรา 291 ที่ลงโทษจำคุกบุคคลที่เมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และในมาตรา 300 บุคคลที่เมาแล้วขับ จนส่งผลให้บุคคลอื่นบาดเจ็บสาหัส  มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 พันบาท  ซึ่งเป็นโทษที่น้อยมากๆ คล้ายกับกฏหมายของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเมื่อกว่า 57 ปีที่แล้ว

ที่มา :  1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ,การสัมมนาระดับชาติเรื่อง ความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 10 “ หัวข้อ  “การเดินทางปลอดภัย ไม่ไกลเกินฝัน” , สืบค้นเมื่อ 11 ต.ค.2560
          2. การประชุมวิเคราะห์สรุปผลการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กระทรวงมหาดไทย , สืบค้นเมื่อ 11 ต.ค.2560
ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

วันอังคารที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ปัจจัยอะไร ช่วยลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในเขตเมือง ?

          การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ในเมืองใหญ่ของประเทศไทย  จัดเป็นปัญหาที่สาคัญของประเทศและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี  การเกิดอุบัติเหตุจราจรไม่ใช่เรื่องบังเอิญ  แต่ก็สามารถป้องกันให้ลดลงได้ จากปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจราจร  คือ ด้านบุคคล ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อม



          การป้องกันหรือการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการหลายๆมาตรการอย่างเป็นระบบ  มีบทเรียนในต่างประเทศหลายแห่งแสดงให้เห็นว่า สามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและอัตราตายได้อย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ที่เป็นผลจากการพิจารณาปัญหาอย่างเป็นระบบ  โดยเน้นมาตรการทั้งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ยานพาหนะ และผู้ใช้ถนน มากกว่าการเน้นที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้ถนนแต่เพียงอย่างเดียว
           ประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศได้มีการดำเนินการด้วยรูปแบบง่ายๆ ที่ได้ผล เช่น การติดตั้ง Rumble strips ในประเทศกาน่า สามารถลดการชนลงได้ร้อยละ 35 ลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 55 โดยมีต้นทุนการดำเนินงานต่ำเมื่อเทียบกับการบังคับใช้กฎหมายด้วยวิธีอื่น  ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรของ European Union Road Federation ก็ให้น้้ำหนักของการแก้ไขปัญหาด้วยวิศวกรรมจราจรทางถนนค่อนข้างสูง  เนื่องจากได้ผลเร็วเมื่อเทียบกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น




         The Haddon Matrix  ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ปัจจัย คือ บุคคล ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อมในระหว่าง 3 ห้วงเวลาของ อุบัติเหตุ คือ ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ซึ่งประกอบด้วย 9 ช่องที่เป็นผลลัพธ์ได้จำลองระบบพลวัตหลายลักษณะ  โดยแต่ละช่องจะเปิดโอกาสให้ใช้การเข้าแทรกแซงเพื่อลดการบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนน



ที่มา : William Haddon Jr. (อ้างใน Peden M., 2004)
ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คนเมืองจะใช้สารซักล้าง คุมกำเนิดยุงในบ้านเรือนได้หรือไม่ ?

แมลงพาหนะนำโรคที่ก่อให้เกิดโรคระบาดในคนเขตเมืองจำนวนมากทุกปี เช่น โรคไข้เลือดออก  โรค  โรคไข้ซิกา ไข้สมองอักเสบ  คือ ยุงลาย โดยเฉพาะแหล่งน้ำขังนิ่งเพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมากขึ้น  รวมทั้งบางพื้นที่ประชาชนยังอาศัยอยู่ภายนอกอาคารบ้านเรือน ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดมากกว่าภาวะปกติ ดังนั้น ชุมชน โรงเรียน วัด ประชาชนแต่ละครัวเรือน สามารถควบคุมกำจัดยุงพาหะนำโรคด้วยวิธีการง่ายๆ ด้วยตัวเอง ด้วยสารซักล้างในครัวเรือน มี 2 วิธีดังนี้
          1. การฉีดพ่นตัวเต็มวัย  ได้โดยการใช้สารซักล้างในครัวเรือน ได้แก่ น้ำยาล้างจาน แชมพู สบู่เหลวหรือผงซักฟอกผสมน้ำ การเตรียมทำโดยการเจือจางน้ำยาล้างจานกลิ่นมะนาวกับน้ำเปล่าในอัตราส่วนผสมน้ำยาล้างจาน 1 ช้อนชาผสมกับน้ำ 1 ลิตร  
             นำมาฉีดพ่นต่อเนื่องไปที่ตัวยุง ที่เกาะพักตามมุมผนังในห้องน้ำหรือภาชนะ วัสดุที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย บริเวณที่เกาะพักของยุง บริเวณแหล่งน้ำ หรือบริเวณที่ชื้น เช่น ในห้องน้ำ หรือตามผนังภายในภาชนะ วัสดุ ที่เก็บขังน้ำต่าง จะเห็นได้ว่ายุงตกจมน้ำตายทันที  หรือฉีดพ่นบนยุงลายที่พบเห็นเกาะพักเป็นกลุ่มตามซอกมุมบ้าน บริเวณกองผ้า ผ้าห้อยแขวน บริเวณที่เก็บหมอนมุ้งใกล้ที่นอนหรือห้องนั่งเล่น    





        2.  การกำจัดตัวโม่งและลูกน้ำยุง เตรียมโดยใช้ผงซักฟอกทั่วไป ในอัตราส่วน ผงซักฟอก 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำในแหล่งเพาะพันธุ์ปริมาณ 2 ลิตร โดยโรยลงในแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆ โดยตรง ในภาชนะ วัสดุแหล่งเพาะพันธุ์ขนาดเล็กต่างๆ  ผงซักฟอกจะแพร่กระจายปกคลุมทั่วผิวน้ำ เมื่อลูกน้ำและตัวโม่งของยุงขึ้นมาหายใจ จะดูดซึมเอาสารเข้าสู่ระบบหายใจ ทำให้ระคายเคืองต่อระบบ และค่อยๆ ตายไปในที่สุด
          นอกจากนั้นเรายังสามารถทำกับดักยุง โดยใส่ผงซักฟอกหรือสบู่ลงในภาชนะต่างๆ ขนาดพอเหมาะ เช่น ถ้วย ฯลฯ แล้วเทน้ำลงไปคนผสมให้เข้ากัน เอาไปวางไว้ตามมุมต่างๆ ของบ้าน จำนวนยุงจะค่อยๆ ลดลงไป เมื่อผ่านไปราว 10 วัน เราจะสังเกตุพบว่าน้ำในภาชนะเหล่านี้จะเป็นสุสานของยุงมากมาย เราก็เทน้ำนั้นทิ้ง และใส่ผงซักฟอกใหม่เป็นประจำ  ผงซักฟอกหรือสบู่จะมีลักษณะเป็นด่าง ไข่ของยุงเมื่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เป็นด่างก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้  จำนวนยุงก็จะค่อยๆ ลงน้อยลง 

        นอกจากวิธีง่ายๆ ดังกล่าวแล้ว  เราควรจัดการสภาพแวดล้อม  กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆ ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของลูกน้ำยุง เช่น เก็บ ทำลาย ทำความสะอาดภาชนะที่สามารถขังน้ำได้ที่อยู่บริเวณรอบๆ บ้านเท่าที่ทำได้ การควบคุมทางกายภาพ เช่น การใช้ไม้ตบยุงแบบไฟฟ้า ตบยุงที่บินมารบกวนโดยตรง หรือหลอดไฟดักยุง
การใช้สารเคมี  กรณีควบคุมด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล เช่น ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ ลงในภาชนะน้ำใช้ที่ไม่สามารถปิดฝาได้ หรือการพ่นควบคุมยุงโดยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงที่มีความปลอดภัยสูงแบบสเปรย์กระป๋อง พ่นในห้องที่ปิดมิดชิด ตามใต้ตู้ เตียง มุมอับต่างๆ ในบ้าน แล้วทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที จึงเปิดประตู หน้าต่างระบายสารเคมีออกไป และเก็บกวาดซากยุงทิ้ง ไม่ควรพ่นในห้องที่มีผู้ป่วยและเด็กอาศัยอยู่
การป้องกันตัวเองจากยุงกัด โดยการสวมใส่เสื้อผ้าแขน ขายาวเมื่ออยู่นอกบ้าน ทาโลชั่นป้องกันยุง และนอนในมุ้ง หรือมุ้งชุบสารเคมีกำจัดแมลงเสมอ  เมือต้องนอนในห้องที่ไม่มีมุ้งลวดหรือนอนนอกบ้าน


         ยุงลายที่เป็นพาหะโรคไข้เลือดออก บางปีมีผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนคน  บางปีหลายหมื่นคน ดังนั้นการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง  คือวิธีคุมกำเนิดไม่ยอมให้ยุงเกิดมาได้  จะช่วยลดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ในลูกหลานและญาติมิตรได้

ที่มา : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก  กรมควบคุมโรค
ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

คนเมือง เสี่ยงเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต จริงหรือ ?

       เนื่องจากคนเมือง ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย  จึงเกิดโรคที่คุกคามคนเมืองลำดับต้นๆ คือ โรคหลอดเลือดสมอง หรือที่ชาวบ้านรู้จักว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต   จากรายงานพบว่าทั่วโลกมีรายงานเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน  ในคนไทยพบการเสียชีวิตจากอัมพาตปีละ 13,353 คน เฉลี่ย 3 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง ป่วยปีละ 130,000 คน อัตราป่วยสูงสุดที่ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคกลาง  พบอัตราป่วยเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุกอายุ 10 ปีที่เพิ่มขึ้น  คาดว่าในปี 2573  ผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 16 ล้านคน  ดังนั้นผู้ที่อายุมากกว่า 55 ปี จึงเสี่ยงป่วยเป็นอัมพาตในบั้นปลายชีวิต


           โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้มีอาการของแขน  ขาหรือหน้า ซีกใดซีกหนึ่งชา อ่อนแรงหรือเคลื่อนไหวลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ อย่างทันทีทันใด ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงตีบตัน หรือแตก จนเกิดการทำลายหรือตายของเนื้อสมอง ทำให้สมองสูญเสียการควบคุมการทำงานของอวัยวะในร่างกายอาการทีเกิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ขาดเลือดไปเลี้ยงและความรุนแรงขึ้นอยู่กับการทำลายเนื้อสมอง  โรคนี้ แบ่งเป็น  2 ประเภท     คือ 
             - โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน คือ มีการอุดตันของหลอดเลือดซึ่งอาจเกิดจากการที่มีก้อนเลือดจากหัวใจหรือก้อนไขมันจากหลอดเลือดที่คอมาอุดที่หลอดเลือดในสมอง หรืออาจเกิดจากภาวะที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (เลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ) ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ 
            - โรคหลอดเลือดสมองแตก  โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงมานาน ทำให้เกิดความผิดปกติที่หลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง และเกิดการแตกของหลอดเลือด ก้อนเลือดจะไปกดเนื้อสมอง ทำให้ขาดออกซิเจน ขาดอาหาร  การรักษาของโรคนี้ทำได้ดังนี้คือ  รักษาด้วยยา  ด้วยการผ่าตัด ด้วยการฉายรังสี  การทำกายภาพฟื้นฟู
             ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา โรคหัวใจ เช่น โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ ดำเนินชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ ขาดการเคลื่อนไหวขาดการออกกำลังกาย และภาวะเครียด  โดยสามารถสังเกตุอาการเริ่มต้น ได้ดังนี้คือ 
           1) ชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีกที่หน้า หรือขา 
           2)  เวียนศีรษะ หรือหมดสติ 
           3) ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน 
           4) พูดไม่ชัดหรือลิ้นแข็ง ตามัวหรือเห็นภาพซ้อน   



         ถ้ามีอาการข้างต้นอย่างน้อย 1 อาการ ให้รีบไปตรวจรักษาอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยด่วนภายใย 3 ชั่วโมง จะได้ช่วยรักษาชีวิตและสามารถฟื้นฟูกลับมาได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด   ประชาชนทุกคนสามารถป้องกันการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือ อัมพฤกษ์ อัมพาต ได้ด้วยการเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่สุขภาพและลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด ได้แก่ 
         1) การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันอยู่แล้วให้ควบคุมความดันให้น้อยกว่า 120/90 มิลลิเมตรปรอท  
         2) สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ควบคุมระดับของน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด ( ก่อนรับประทานอาหารเช้าระดับน้ำตาลในเลือด 70-110 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชม.ระดับน้ำตาลไม่เกิน 140 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ 
         3) ลดหรือเลิกสูบบุหรี่ 
         4) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่ต่ำกว่า 30 นาทีต่อวัน  
         5) บริโภคอาหารให้พอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย งดอาหารรสเค็ม รสหวาน และไขมันสูง  
      6) ควบคุมให้น้ำหนักตัวที่เหมาะสม รอบเอวผู้ชายไม่เกิน 90 เซนติเมตร และผู้หญิงไม่เกิน 80 เซนติเมตร 
          7) ทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่อนคลายเพื่อลดภาวะความเครียด  
          8) ตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

                                    
             หากคนในเขตเมืองหมั่นวัดความดันโลหิต ควบคุมน้ำตาลในเลือด น้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดอาหารเค็ม หวาน ไขมันสูง ผ่อนคลายความเครียด ก็จะสามารถป้องกันโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ที่จะคุกคามชีวิตได้

ที่มา : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก
ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ยุงลายพาหะโรคไข้เลือดออก ออกลูกดกมาก ชอบกัดคนประเภทแบบไหน ?

         เนื่องจากโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ และไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ครบทุกสายพันธุ์  ยุงลายตัวเมียที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกเพียง 1 ตัว จะสามารถวางไข่ได้ครั้งละ 50-150 ฟอง ในช่วงชีวิต 60 วันของยุงตัวเมียหนึ่งตัว  จึงวางไข้ได้บ่อยราว 4-6 ครั้ง  ตลอดชีวิตของยุงลายตัวเมียจึงมีลูกได้ดกมากถึงราว 500 ตัว  



จากข้อมูลการศึกษาวิจัย พบว่า ยุงมักจะชอบกัดคน 6 ประเภทด้วยกัน ดังนี้คือ  
    1.  ยุงชอบกัดเด็กมากกว่าผู้ใหญ่เพราะกลิ่นและลักษณะผิวหนัง  
    2.  ยุงชอบกัดผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเพราะฮอร์โมนแตกต่างกัน  
    3.  ยุงชอบกัดคนที่หายใจแรงเพราะคาร์บอนไดออกไซด์จากลมหายใจจะเป็นตัวดึงดูดยุง  
    4.  ยุงชอบกัดคนที่ตัวร้อนเพราะอุณหภูมิบริเวณผิวหนังจะสูง  
    5.  ยุงชอบกัดคนที่มีเหงื่อออกมาก  
    6.  ยุงชอบกัดคนที่ใส่เสื้อผ้าสีเข้ม  

           แต่ทุกคนก็มีโอกาสโดนยุงกัดได้หมด  ควรระวังและป้องกันตัวไม่ให้ถูกยุงกัดจะดีที่สุด  หากสงสัยบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้สูงลอยนานเกิน 2 วัน ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะหรือปวดกระบอกตา อาจพบจุดเลือด ที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยเป็นไข้เลือดออก และรีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ให้ระลึกเสมอว่าฤดูฝนนี้เป็นช่วงของการระบาดของโรคไข้เลือดออก อย่านิ่งนอนใจ
           ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ โดยการตัดตอนวงจรชีวิตของยุงจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด  โดยการป้องกันไม่ให้ยุงวางไข่ได้  หรือไข่แล้วก็ไม่ให้กลายเป็นยุง  เน้นที่การควบคุมลูกน้ำด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ เนื่องจากสามารถทำลาย ได้ง่ายและไม่สิ้นเปลือง
            คำแนะนำการป้องกันไม่ให้ยุงกัด คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ฉีดไล่ยุง เครื่องไล่ยุงไฟฟ้า ใช้ยาจุดกันยุง  ยาทากันยุงกัด หรือใช้กลิ่นของสมุนไพรไล่ยุง เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น  การนอนในมุ้ง ติดมุ้งลวด หรือเปิดพัดลมไล่ยุง



            ส่วนกลยุทธ์การปฏิบัติเมื่อมีคนในบ้านหรือข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก  คือ  ควรจะบอกคนในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้เลือดออก ให้สมาชิกในครอบครัว ป้องกันการถูกยุงกัดตามคำแนะนำ  เนื่องจากไข้เลือดออกระบาดโดยมียุงลายเป็นพาหะแพร่เชื้อ เพื่อให้คนในชุมชนเตรียมการป้องกันตนเองและคนในบ้าน  แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อมาดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคทันที 
          สำรวจภายในบ้าน รอบบ้าน รวมทั้งเพื่อนบ้านว่ามีแหล่งแพร่พันธุ์ยุงหรือไม่ หากมีให้จัดการเสีย  เฝ้าดูอาการของสมาชิกในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้หรือไม่ หากมีไข้ให้ระวังว่าอาจจะเป็น ไข้เลือดออก  ให้ผู้ป่วยนอนในมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด



ที่มา :  1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
           2. สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก
ผู้เรียบเรียง : ภก.เชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

นวัตกรรมการพัฒนารูปแบบประเมินตนเองออนไลน์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเขตเมืองจังหวัดพิษณุโลก

หลักการและเหตุผล / ที่มา

          ในเขตเมืองพิษณุโลก มีเมืองใหญ่ ๒ แห่งที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่นเกิน ๑๐,๐๐๐ คน ความหนาแน่นของประชากรมากกว่า ๓,๘๐๐ คน ต่อพื้นที่ ๑ ตารางกิโลเมตร คือ เขตเทศบาลนครพิษณุโลก และเทศบาลเมืองอรัญญิก  จากรายงาน Annual Surveillance Report ปี ๒๕๕๘ ของหน่วยงาน พบว่า จังหวัดพิษณุโลกมีอัตราป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลัก ๕ โรค ( หนองในแท้, หนองในเทียม, ซิฟิลิส, แผลริมอ่อน , ฝีมะม่วง ) สูงมากที่สุดโดยมีอัตราป่วย ๕๙.๖ ต่อแสนประชากร  โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ๒ แห่ง (เทศบาลนครพิษณุโลก และ เทศบาลเมืองอรัญญิก)   มีสัดส่วนผู้ป่วยโรคนี้มากถึงร้อยละ ๖๗ ของผู้ป่วยทั้งจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวิเคราะห์แล้วอัตราป่วยนี้ยังต่ำอยู่มาก เพราะเป็นข้อมูลรายงาน ๕๐๖ เพียงส่วนเดียวจากโรงพยาบาลของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น จึงยังมีประชาชนในเขตเมืองอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงบริการเชิงรุกในการตรวจคัดกรองโรค เพื่อรับทราบสถานะความเจ็บป่วยของตนเอง อันจะทำให้การป้องกันควบคุมโรคติดต่อนี้ในเขตเมืองดำเนินการได้อย่างไม่ครอบคลุม รอบด้าน

วัตถุประสงค์
           ๑. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้เข้าถึงบริการเชิงรุกการคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รับรู้สถานะระดับความเสี่ยงของตนเองในเบื้องต้น ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ได้เพิ่มขึ้น
           ๒. เพื่อให้ประชาชนรุ่นใหม่กลุ่มเสี่ยง เกิดความตระหนักในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยตนเองมากขึ้น

วิธีการที่ใช้
               สร้างนวัตกรรมแบบประเมินความเสี่ยงสุขภาพทางเพศด้วยตนเองในเขตเมืองจังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการให้ผู้เชี่ยวชาญ / ผู้ทรงคุณวุฒิ ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ พัฒนาเว็ปไซต์การประเมินตนเองออนไลน์ฯ  ดำเนินการทดลองและสนับสนุนการใช้รูปแบบ ฯ

ผลการศึกษา / ผลการดำเนินงาน
             ได้นวัตกรรมรูปแบบประเมินตนเองออนไลน์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเขตเมืองจังหวัดพิษณุโลก  โดยมีลักษณะรูปแบบที่สำคัญ คือ
     ๑.  ใช้ฟรีเว็ปไซต์ในการพัฒนารูปแบบประเมินออนไลน์ฯ ( คลิ๊กไปที่  https://t.co/X7tf7iww2s )  หรือใช้ App.Line เพิ่มเพื่อนแสกน QR Code ตามภาพ

๒.   ข้อคำถามจำกัดให้น้อยที่สุดจำนวน  ๑๕ ข้อ เพื่อให้โปรแกรมออนไลน์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับวิถีชีวิต เวลา ความสะดวก ความร่วมมือ ของผู้ตอบแบบประเมินฯ ที่อาศัยในเขตเมือง 
๓.   แบบประเมินฯ เป็นชนิดแบบกรอกตัวเลข และเลือกคำตอบ  ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ Smartphone ระบบ  Android หรือ IOS ใช้เวลาทำประมาณ  ๒ ๕ นาที เมื่อให้ข้อมูลครบทุกข้อแล้ว ระบบจะแสดงผลเป็นตัวเลขร้อยละทันทีว่าผู้ประเมินตนเองนั้น เสี่ยงน้อย เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงมาก เสี่ยงมากที่สุด พร้อมมีคำแนะนำในการเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันผลทางวิทยาศาสตร์
๔.  สร้างภาพคิวอาร์โค๊ด (QR: Quick Response Code) เชื่อมกับ URL Address ของแบบสอบถามออนไลน์ สามารถใช้ Application LINE เพิ่มเพื่อนสแกนรูปแปลงเข้าสู่แบบสอบถามได้ทันที 
๕.   กระจายส่งต่อภาพแบนเนอร์ QR Code ไปยังพื้นที่เขตเมืองเป้าหมายต่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Application Line , Facebook Group , Instragram และในเวทีการประชุม อบรม สัมมนา ทางวิชาการให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบป้องกันควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  โรงพยาบาลศูนย์  โรงพยาบาลทั่วไป  โรงพยาบาลอำเภอ  กองสาธารณสุขเทศบาล  แกนนำชุมชน ฯลฯ
๖.  ดำเนินการทดลองและสนับสนุนการใช้รูปแบบประเมินตนเองออนไลน์ฯ โดยกลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ของหน่วยงาน  ในกลุ่มเป้าหมายเสี่ยงสูงนักศึกษา  พบว่ามีผลตอบรับดี และสามารถคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทั้งเพศชาย และหญิง ส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง
๗.  สร้างความแปลกใหม่ และดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมายที่จะประเมินความเสี่ยงสุขภาพทางเพศด้วยตนเองมากขึ้น


สรุปและวิจารณ์
           นวัตกรรมการพัฒนารูปแบบประเมินตนเองออนไลน์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเขตเมืองจังหวัดพิษณุโลก ของ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๒ พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เป็นนวัตกรรมการพัฒนา ลักษณะที่สำคัญ คือ ดำเนินการทางเว็ปไซต์  เผยแพร่ภาพ QR Code ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์  จึงแบ่งปันส่งออกกระจายแบบประเมินจากหน่วยงานสู่สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพในวงกว้าง รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ กระจายเข้าถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ทุกระดับได้ภายในเวลาอันสั้น ไร้ขอบเขตข้อจำกัดด้านเวลาและพื้นที่  เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีผสานต่อเกื้อกูลไขว้ซึ่งกันและกัน  เหมาะสมกับวิถีชีวิตคนเมือง  ผู้ตอบประเมินตนเองสามารถกระทำได้ด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์มือถือชนิด Smartphone  ที่ใด เวลาใดก็ได้ที่สะดวก  และไม่รู้สึกกระดากอายในการเลือกตอบแบบประเมิน เนื่องจากไม่ต้องเปิดเผยความลับเฉพาะตนต่อผู้อื่นต่อหน้า จึงกล้าที่จะให้ข้อมูลตามจริงมากกว่าแบบประเมินลักษณะอื่น เปิดโอกาสในการรับทราบสถานะสุขภาพของตนเอง  เป็นการสื่อสารทางตรงถึงประชาชนได้มากขึ้น


ข้อเสนอแนะ
             ทิศทางการใช้ประโยชน์ในระยะต่อไป สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค และหน่วยงานในระดับพื้นที่ควรใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมการพัฒนารูปแบบประเมินตนเองออนไลน์ฯ ที่ได้พัฒนาไว้  โดยการต่อยอดรับช่วงต้นแบบที่สร้างไว้ไปบริหารจัดการ  ขยายผลการเข้าถึงเป็น Application Smartphone สร้างกลุ่มรับข่าวเฉพาะที่ตรงเป้าหมาย เผยแพร่ย้ำเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ  กระตุ้นประชาชนรุ่นใหม่กลุ่มเสี่ยงที่สนใจสื่อสารสนเทศสาธารณะ ได้เข้าถึงบริการเชิงรุกรับรู้สถานะระดับความเสี่ยงสุขภาพทางเพศด้วยตนเองในเบื้องต้น และมีความตระหนักถึงการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากติดต่อของโรค ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม รู้วิธีการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค ป้องกันตนเองล่วงหน้า จะช่วยลดหรือบรรเทาความรุนแรงการเกิดโรค และการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างมาก


ภาพถ่ายประกอบ
    ลักษณะภาพภาพคิวอาร์โค๊ด (QR: Quick Response Code) เชื่อมกับ URL Address ของแบบสอบถามออนไลน์ สามารถใช้ Application LINE เพิ่มเพื่อนสแกนรูปแปลงเข้าสู่แบบสอบถามได้ทันที ที่ Weblink : https://t.co/X7tf7iww2s 





ผู้พัฒนา / เจ้าของผลงาน : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วิถีชีวิตคนเมืองแบบใดที่ทำให้สุขภาพแย่ เกิดโรคออฟฟิศซินโดรม

ในปัจจุบันวิถีชีวิตคนเมือง คือ นอกดึก ตื่นเช้า เร่งรีบกับการทำงาน  ทุกอย่างในแต่ละวันจึงเต็มไปด้วยความเร่งรีบ รวมไปถึงการทุ่มเทและให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานและภาระต่างๆ จนหลายคนมักที่จะมองข้ามเรื่องการดูแลสุขภาพของตน ส่งผลให้คนเมืองมีภาวะร่างกายเสื่อมถอยสะสมโดยไม่รู้ตัว  จากข้อมูลด้านสาธารณสุข พบว่าร้อยละ 10 ของคนเมือง มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็น " โรคออฟฟิศซินโดรม " วิถีชีวิตที่ทำให้สุขภาพแย่ มักมีดังนี้คือ 



1. ไม่กินอาหารมื้อเช้า  ตามหลักวิชาการแล้วอาหารมื้อเช้า เป็นมื้อที่ร่างกายจะได้รับสารอาหารและพลังงานทดแทนที่เสียไปในระหว่างกลางคืนที่ร่างกายนอนหลับยาวนาน การอดอาหารมื้อเช้าบ่อยๆ จะทำให้ร่างกายขาดพลังงาน สมองไม่ได้รับสารอาหารไปกระตุ้น จึงทำให้เรามักรู้สึกไม่สดชื่น คิดอะไรไม่ออก สมองประมวลผลช้า เมื่อสะสมไปนานๆ เข้าก็อาจก่อให้เกิดโรคตามมา เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคเส้นเลือดในสมอง โรคหัวใจ โรคนิ่ว และโรคอัลไซเมอร์ (ความจำเสื่อม)  จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า คนที่กินอาหารเช้าหลังตื่นนอน ชั่วโมง  จะมีแนวโน้มที่อารมณ์ดี จิตใจเบิกบาน รวมไปถึงมีทักษะการเรียนรู้และจดจำที่มากกว่าปกติ
2. ดื่มน้ำน้อย ร่างกายของคนเราส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 70 การดื่มน้ำที่น้อยเกินไปในแต่ละวันจะส่งผลให้เลือดข้น ระบบหมุนเวียนของเหลวในร่างกายผิดปกติและมีอาการปวดศรีษะตามมา  แต่การดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตรจะช่วยให้ระบบอวัยวะไต สามารถดักจับไขมัน และกำจัดสารพิษต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ดียิ่งขึ้น ช่วยทำให้ผิวพรรณสดใส ลดปัญหาท้องผูก ช่วยควบคุมความเป็นกรด-ด่างของของเหลวในร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ สมองทำงานได้ดีเพราะมีน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอ 
3. นั่งท่าเดิมๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน  คนเมือง มีพฤติกรรมการทำงานที่ต้องนั่งท่าเดิมติดต่อกันเป็นระยะเวลานานมากกว่า ชั่วโมง  เกิดอาการที่เรียกว่า โรคออฟฟิศซินโดรมคือ กล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยล้าตามบริเวณ ไหล่ บ่า ต้นคอ หลัง  คนเมืองจึงควรลุกขึ้นขยับร่างกายเป็นระยะๆ 



4. ทำงานล่วงเวลา  (OT) ร่างกายก็เปรียบเสมือนรถยนต์  หากวิ่งตลอดเวลาไม่ได้พัก เมื่อถึงจุดหนึ่งเครื่องยนต์ก็ต้องน็อคพังชำรุด  ร่างกายของคนเราจึงควรที่จะได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอเหมาะสม จัดสรรตารางและกำหนดขอบเขตความสำคัญของงานว่าจะทำอย่างใดก่อน-หลัง  จะได้ไม่ต้องว่างตอนกลางวันแต่งานมากตอนช่วงหลังเลิกงาน
5. นอนดึก อดนอนเป็นประจำ  การทำงานล่วงเวลาจนนอนดึก  การติดมือถือหรือโซเชียล เช่น Facebook , Instagram , Line ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รบกวนเวลาในการนอนพักผ่อนของคนเมืองให้นอนดึกมากขึ้นกว่าเดิม   ถ้าอดนอนบ่อยๆ หรือนอนดึกติดต่อกัน ก็จะส่งผลให้สมองไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานลดลง ขาดสมาธิ และอารมณ์แปรปรวนอยู่เสมอ 
6. ร่วมปาร์ตี้ทุกสัปดาห์  ช่วงวันท้ายสุดสัปดาห์หรือวันหยุด คนเมืองมักคิดว่าทำงานหนักมาทั้งสัปดาห์ก็ต้องปาร์ตี้ให้หายเหนื่อยสักหน่อย  แต่ความจริงแล้วร่างกายทำงานหนักติดต่อกันมาทั้งสัปดาห์แล้ว การปาร์ตี้จนร่างกายทรุดโทรมในช่วงวันหยุดนั้น  เป็นการทำร้ายร่างกายยิ่งกว่าทำงานเสียอีก เช่น แอลกอฮอล์ที่ทำลายสุขภาพโดยตรง  การอดนอนที่ทำให้ใบหน้าหมองคล้ำและสุขภาพทรุดโทรม  การแฮงค์ในตอนเช้า  ทำให้วันหยุดหมดไปกับอาการป่วยคลื่นไส้เวียนหัว  แทนที่ร่างกายจะได้พักผ่อนจริงๆ 


7. การไม่ออกกำลังกาย   คนไทยกว่าร้อยละ 20 เป็นภูมิแพ้จากมลภาวะที่อยู่รอบตัว โดยเฉพาะสังคมเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จนก่อให้เกิดความแออัด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สารก่อภูมิแพ้ขึ้น  การออกกำลังกาย คือ สิ่งจำเป็นที่จะช่วยสร้างภูมิต้านทานในร่างกายของเราให้แข็งแรงต่อสู้กับโรคร้ายได้อยู่เสมอ  คนเมืองที่ไม่ออกกำลังกายเลยก็จะทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้รับการพัฒนา ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย ลงพุงและมีความเครียดสะสม 
ที่มา :  1. กระทรวงสาธารณสุข , สืบค้นเมื่อ 5 ต.ค.60         
           2. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  
, สืบค้นเมื่อ 5 ต.ค.60
          3. National Weight Control Registry  , สืบค้นเมื่อ 5 ต.ค.60
ผู้เรียบเรียง : ภก.เชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

อะไรคือความเสี่ยง ของครอบครัวคนในเขตเมือง

 ประเทศไทยนับว่ามีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยไม่มีแนวโน้มหยุดนิ่งหรือชะลอตัว เมื่อ เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้า คือการตามมาของการขยายตัวความเป็นชุมชนเมือง  จากการศึกษาพบว่ามีความเสี่ยงของครอบครัวในเขตเมือง 6 ด้าน คือ 

ด้านบทบาทหน้าที่  พบว่ามีความไม่รู้และไม่เข้าใจหน้าที่ของตนเอง  เช่น ไม่แน่ใจว่าจะดูแลสมาชิกในครอบครัวได้ถูกต้องและเหมาะสม  ไม่มีการวางเป้าหมายของครอบครัว  วางเป้าหมายเพียงเรื่องการทำมาหากิน แต่ไม่มีการวางเป้าหมายชีวิตและการดูแลกัน   ไม่รู้บทบาทครอบครัวของตนเอง
ด้านสัมพันธภาพ พบภาวะ  ต่างคนต่างอยู่สะท้อนให้เห็นว่ามีการช่วยเหลือกันน้อยลงจนถึงขั้นไม่ช่วยเหลือกันเลย  ไม่มีที่ระบายหรือปรึกษาเรื่องครอบครัว  ไม่เล่าเรื่องที่ตนเองพบอยู่ให้ครอบครัวฟัง ครอบครัวไม่ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา  ด่าทอหยาบคาย ทำร้ายร่างกายและละเลยทอดทิ้ง ทำร้ายร่างกายตนเองและสมาชิกในครอบครัว   สิ่งที่ต้องการคือ ถ้ามีศูนย์หรือพื้นที่ที่เข้าใจให้คำปรึกษา สัมพันธภาพในครอบครัวน่าจะดีขึ้น 
ด้านการจัดการเวลา  พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัว  สะท้อนว่าไม่มีเวลา ซึ่งส่งผลต่อสัมพันธภาพให้เห็นได้อย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่บอกว่าเวลากินข้าวเป็นช่วงที่จะได้พบหน้ากันมากที่สุด 
ด้านการเงิน พบว่าส่วนใหญ่รู้เรื่องการบริหารจัดการเงินปานกลางถึงน้อยมาก   รายรับน้อยกว่าหรือเท่ากับรายจ่าย  ไม่มีการออมเงิน  ในส่วนผู้ที่ออมเงินไม่มั่นใจว่าเงินออมจะเพียงพอ  และคิดว่าเงินออมไม่พอแน่นอนหากเกิดวิกฤติ   ส่วนมากมีหนี้สินเรื่องการใช้จ่าย  ไม่มั่นใจว่าจะใช้หนี้หมด  และส่วนน้อยยืนยันว่าใช้หนี้ไม่หมดแน่นอน   มีบางส่วนทำบัญชีรายรับรายจ่าย แต่ไม่ค่อยเห็นประโยชน์  สิ่งที่ต้องการคือการเรียนรู้การบริหารจัดการเงินของตนเองให้มีประสิทธิภาพ  เพราะปัจจุบันมีพลวัตของการเงินที่รวดเร็ว 
ด้านสุขภาวะของคนเมือง  พบว่าส่วนใหญ่ใส่ใจตนเอง  ระวังยาเสพติด แต่ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่  เล่นการพนันและเสี่ยงโชคทุกรูปแบบ  บางส่วนติดสารเสพติดอื่นๆ   จัดการความเครียดได้น้อยมากและไม่ได้เลย  มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนของตนเอง 
ด้านการดูแลผู้สูงอายุ พบว่าส่วนใหญ่ดูแลผู้สูงอายุได้เหมาะสม เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในครอบครัว  แต่มีความกังวลว่าผู้สูงอายุจะเหงาเพราะไม่มีเวลาดูแล บางส่วนไม่มีเวลาดูแลผู้สูงอายุ และกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ  ส่วนน้อยกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวันของผู้สูงอายุ


ที่มา  โครงการศึกษาครอบครัวไทยที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ปี 2557 , สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย, สภาพัฒน์ และ สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) , สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2560
ผู้เรียบเรียง : ภก.เชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

อะไรคือพฤติกรรมสุขภาพของคนเขตเมืองยุค 4.0

พฤติกรรมทางสุขภาพของคนไทยยุค 4.0  จากการศึกษาพบว่า 
      กลุ่มเด็กเล็ก  เริ่มติดหวานตั้งแต่ 2-5 ขวบ ผู้ปกครองเริ่มให้กินน้ำหวานหรือน้ำอัดลม มากกว่า 1 ครั้งต่อวัน ถึงร้อยละ 12% และ 30% ของเด็กเล็กมีพัฒนาการต่ำกว่าเกณฑ์โดยเฉพาะพัฒนาการด้านภาษา  ส่วนหนึ่งมาจากการใช้เทคโนโลยีทั้งสมาร์ทโฟน ไอแพทในการเลี้ยงดู  
     กลุ่มวัยรุ่น มีพฤติกรรมขยับน้อยกว่าผู้สูงอายุ โดยวัยรุ่นเฉลี่ยมีกิจกรรมทางกายเพียง 1.14 ชั่วโมงต่อวัน แต่ใช้เวลาไปกับอินเตอร์เน็ต ชั่วโมงต่อวัน และต้องการความรู้เรื่องเพศเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย  จากการสำรวจรายงานสุขภาพคนไทยพบว่า จำนวนคู่นอนเฉลี่ยของวัยรุ่นอยู่ที่ 5 คน ทั้งหญิงและชาย
     กลุ่มวัยทำงาน  มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟตอนเช้า น้ำหวานกลางวัน และดินเนอร์ขนมหวานตอนเย็น   มีการสำรวจถนนสายเศรษฐกิจแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เพื่อตรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มชงหวาน 5 เมนูยอดฮิต พบว่าใน แก้ว หรือราว 250 มลมีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 10-15 ช้อนชา (องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ควรปริโภคน้ำตาลในอาหารทุกชนิดไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาเท่านั้น ) พฤติกรรมเหล่านี้เสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง และเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน หัวใจ ความดัน 
     ผู้สูงวัย  ยังขาดการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  โดยเฉพาะหลักประกันรายได้ยามเกษียณ  พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 95% มีโรคประจำตัวแต่ยังคงสามารถดำเนินชีวิตประวันได้ตามปกติ 


เมื่อเราสามาาถเข้าใจพฤติกรรมทางสุขภาพของคนในเมืองแต่ละช่วงวัยที่ต่างไปจากเดิม  ก็จะสามารถออกแบบปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้คนในแต่ละวัยมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีขึ้นได้

ที่มา :  สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส.  สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2560
เรียบเรียงโดย : ภก.เชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ