วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

บทความทางวิชาการ ตอน ลดอุบัติทางถนนในเมืองใหญ่ ทำอย่างไรจึงจะได้ผล ?

ความเป็นมา
           องค์การอนามัยโลก รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1.25 ล้านคนต่อปี  หรือกว่า 3,400 คนต่อวัน ผู้เสียชีวิตจะอยู่ในกลุ่มอายุ น้อย 15-29 ปี โดยผู้เสียชีวิต 3 ใน 4  เป็นเพศชาย  ราวร้อยละ 49 ของการเสียชีวิต คือกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ คนเดินถนน และผู้ใช้จักรยาน   ปัจจัยเสี่ยงหลัก 5 ประการของการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ เมาแล้วขับ การขับรถเร็วเกินกำหนด การไม่ใช้หมวกกันน็อคเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ การไม่ใช้เข็มขัดนิรภัย และการไม่ใช้เบาะนิรภัยในรถสำหรับเด็ก


          มากกว่า 90% ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และปานกลางถึงแม้ว่าประเทศเหล่านี้จะมีจำนวนยานพาหนะน้อยเพียงครึ่งหนึ่งของยานพาหนะทั่วโลกก็ตาม หากไม่มีการดำเนินการใดๆ จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในแต่ละปีคาดว่าจะกลายเป็นเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 7 ภายในปี ค.. 2030  มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงเวลาครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21 จะมีผู้เสียชีวิต 75 ล้านคนและผู้บาดเจ็บ 750 ล้านคนจากอุบัติเหตุทางถนน    
         จากรายงานขององค์การอนามัยโลก จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับ 2 ของโลก  อันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยมากถึงปีละประมาณ 24,000 คน หรือชั่วโมงละ 3 คน  นอกจากนี้ พบว่ามีผู้บาดเจ็บเกือบ 1 ล้านคน นอนรักษาตัวโรงพยาบาลประมาณ 2 แสนคนต่อปี และมีผู้พิการอีกปีละกว่า 7,000 คน
           พบว่าอุบัติเหตุทางถนนในเมืองใหญ่ ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 30 40 ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งจังหวัด เนื่องจากมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น มีแรงงานหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมือง มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่ง  อัตราการเสียชีวิตจำนวนมากในเมืองใหญ่เช่นนี้ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน         
          

ผลกระทบ
           อุบัติเหตุทางถนนไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเศร้าโศกและทุกข์ทรมานเท่านั้น  แต่ยังส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจของผู้ประสบเหตุ ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติในภาพรวมด้วย คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี  เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศ ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้บาดเจ็บจำนวนมากสร้างภาระหนักต่อระบบสุขภาพ ต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของโรงพยาบาล จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่งชี้ว่า นี่คือวิกฤติด้านสาธารณสุข และการพัฒนาที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าเดิมหากไม่ได้รับการแก้ไข 

บทเรียนความสำเร็จ
            องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประเทศต่างๆ แก้ไขเรื่องความปลอดภัยทางถนน  ในระยะสั้นควรดำเนินมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิผล เช่น การผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยง การบังคับใช้กฎหมาย และสนับสนุนการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเพิ่มความตระหนักต่อสาธารณะ ส่วนในระยะยาว ให้เน้นที่การดำเนินการในภาพรวมซึ่งครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ ผู้ใช้ท้องถนน และสภาพท้องถนน  เนื่องจากร่างกายมนุษย์นั้นได้รับการบาดเจ็บได้ง่าย และทำความผิดพลาดได้เสมอ  
           ประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านความปลอดภัยทางถนนได้นำแนวคิดนี้ไปใช้งาน และสามารถลดการบาดเจ็บบนท้องถนน ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้เดินเท้าลงได้อย่างมาก เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้สร้างโซนการขับขี่ด้วยความเร็ว 30 กม./ชม. ออกแบบถนนและยกระดับทางข้ามเป็นแบบเดียวกัน ทำให้สามารถมองเห็นได้ง่าย และมาตรการด้านพาหนะ เช่น ด้านหน้ารถยนต์ที่เป็นมิตรต่อคนเดินถนน  ด้านข้อมูลและการศึกษาด้านพฤติกรรม ในกลุ่มบุคคลที่เมาแล้วขับ และขับรถเร็วเกินกำหนด  
           ข้อมูลเหล่านี้ส่งผลดีมากขึ้นต่อความปลอดภัยของคนเดินถนน นอกจากนี้ยังให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความต้องการเฉพาะของเด็กและคนชรา ประชากรของประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ยอมรับและสนับสนุนเพื่อสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย และความก้าวหน้าที่มุ่งเน้นที่ความปลอดภัยทั่วทั้งชุมชน

บทสรุปเชิงนโยบาย
            ระหว่างปี ค.ศ.2011-2020 ( พ.ศ.2554-2563) แผนระดับโลกจัดเป็นทศวรรษแห่งการดำเนินการด้านความปลอดภัยทางถนน มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดจำนวนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยได้กำหนด “5 เสาหลักหรือประเด็นเพื่อการป้องกันไว้มาเพื่อชดเชยความผิดพลาดของมนุษย์ คือ การจัดการความปลอดภัยทางถนน , ถนนและการคมนาคมที่ปลอดภัยมากขึ้น , ยานพาหนะที่ปลอดภัยมากขึ้น , ผู้ใช้ถนนที่ปลอดภัยมากขึ้น , การตอบสนองหลังอุบัติเหตุได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น   เพื่อมุ่งที่จะช่วยชีวิตประชาชนพลิกแนวโน้มของการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก สามารถที่จะป้องกันประชาชนมากกว่า 5 ล้านคนไม่ให้เสียชีวิต และกว่า 50 ล้านคนไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ    
           สำหรับประเทศไทย ได้ตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี 2563 หรืออัตราการเสียชีวิต 10 ต่อประชากรแสนคน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะดำเนินการเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการบูรณาการในทุกระดับร่วมกัน  และที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น เทศบาล ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ จึงจะทำให้ปัญหานี้บรรเทาความรุนแรง และลดความสูญเสียลงได้
           ในเขตเมืองใหญ่ควรมีกิจกรรมสำคัญ คือ ส่งเสริมให้มีกลไกการจัดการข้อมูล เพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที  วิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และมีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ผ่านกล้อง CCTV (Situation Room) แล้วนำภาพการเกิดอุบัติเหตุจากกล้อง  มาวิเคราะห์หาสาเหตุ รวมทั้งมีการสอบสวนการบาดเจ็บ เพื่อนำมาแก้ไขความเสี่ยงที่เกิดขึ้น  , จัดให้มีการกำหนดพื้นที่ควบคุมพิเศษเพื่อเป็นเขตจราจรปลอดภัย (Traffic Safety Zones) ในการใช้พื้นที่จราจร  การคาดเข็มขัดนิรภัย , การสวมหมวกนิรภัย , งดใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ , งดใช้สารเสพติดขณะขับขี่ , จัดการความปลอดภัยในเด็ก , จัดการความปลอดภัยของรถจักรยาน และสนับสนุนให้เกิดมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนนขึ้นในเขตเมือง           


" ลดอัตราอุบัติเหตุทางถนนในเมืองใหญ่ ลดการบาดเจ็บและตายได้ครึ่งหนึ่ง“

เรียบเรียงโดย เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ
ที่มา :  1. ชุดข้อมูลสรุป ความปลอดภัยทางถนน: ข้อเท็จจริงเบื้องต้น  องค์การอนามัยโลก  สืบค้น ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560
          2. สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค  สืบค้น ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

บทความทางวิชาการ ตอน โรคเอดส์ สิทธิสุขภาพ ปราศจากตีตรา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ความเป็นมา
           จากรายงานของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่าในปี 2559 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกสะสมราว 36.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ราว 1.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ราว 1.0 ล้านคน  โดยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสแล้วประมาณ 19.5 ล้านคน
             สำหรับประเทศไทย ในปี 2559 พบรายงานมีผู้ได้รับการตรวจเลือดโดยสมัครใจในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ทุกสิทธิสุขภาพ ประมาณ 8.08 แสนคน  สามารถค้นพบผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ รายใหม่ได้ประมาณ 2.67 หมื่นคน (คิดเป็นร้อยละ 3.30 ของผู้ตรวจเลือด) ในจำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อฯ ถึง 585 คน ผู้มีผลเลือดพบเชื้อฯ ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานกลุ่มอายุช่วง 25-49 ปี ถึงประมาณ  2  ใน 3  ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ทั้งหมด   สัดส่วนของอัตราเพศชาย ต่อเพศหญิง พบว่าเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ  2.19  เท่า
             คาดประมาณว่าปี 2560  มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีมียังมีชีวิตอยู่ประมาณ 4.42 แสนคน โดยมีผู้รู้สถานการณ์ติดเชื้อเอชไอวีของตนเองและได้รับการวินิจฉัยแล้ว ประมาณ 4.31 แสนคน (ร้อยละ 98 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด) ในจำนวนนี้มีผู้ที่กำลังรักษาด้วยยาต้านไวรัสประมาณ 3.02 แสนคน (ร้อยละ 70 ของผู้ที่ได้รับวินิจฉัยแล้ว) 
             จากการวิเคราะห์ข้อมูล สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ  ผู้ติดเชื้อเอชไอวี /ผู้ป่วยเอดส์ จะอยู่ในเขตเมืองถึงประมาณเกือบร้อยละ 50  ที่เหลือจะกระจายอยู่นอกเขตเมือง  



ผลกระทบ
             กว่า 30 ปีที่ผ่านมา การติดเชื้อเอชไอวีเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมต่อทุกประเทศทั่วโลก  ด้วยขณะนี้โรคเอดส์ยังไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงยาต้านไวรัสที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อเอชไอวีในร่างกาย และลดการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสเท่านั้น และต้องกินยารักษาไปตลอดชีวิต เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
              จุดอ่อนหรือจุดเปราะบางที่ผ่านมา คือ ประชาชนยังคงมีพฤติกรรมสุขภาพทางเพศเสี่ยงสูงโดยเฉพาะในกลุ่มคู่ผลเลือดต่างในคู่สามีและภรรยา  ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การเปลี่ยนคู่นอนและไม่รู้สถานะของการติดเชื้อเพราะยังไม่ได้ตรวจเลือด  เยาวชนมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นอายุเฉลี่ยการมีเพศสัมพันธ์ลดลง อัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เรื่องโรคเอดส์ยังไม่สม่ำเสมอและทั่วถึง  จึงยังไม่เกิดความตระหนักที่มากเพียงพอ ส่งผลให้ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ลดลงตามเป้าหมายที่กำหนด  อีกทั้งการเข้าถึงถุงยางอนามัยยังไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป

คำแนะนำ

              โรคเอดส์เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเอชไอวี  ช่องทางหลักการติดต่อถ่ายทอดเชื้อนี้มากที่สุดกว่าร้อยละ 84 คือ ทางการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีเชื้อในร่างกายกับบุคคลทั่วไป ทั้งระหว่างชายกับหญิง ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ทั้งโดยทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และการใช้ปากกับอวัยวะเพศคู่นอนที่มีเชื้อเอชไอวี  ที่เหลือมาจากสาเหตุอื่น  เช่น ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน  จากเลือด  จากแม่สู่ลูก  ฯลฯ



               หากมีอาการผิดปกติใดๆ หลังการมีเพศสัมพันธ์ ควรประเมินตัวเองเบื้องต้นด้วยแบบประเมินออนไลน์ที่ที่เว็ปไซต์  https://t.co/X7tf7iww2s  หรือการให้แอพพลิเคชั่น Line เพิ่มเพื่อนแสกนคิวอาร์โค้ด และเปิดทำแบบประเมินตนเองออนไลน์ฯ  ถ้าผลว่าเสี่ยงสูงควรรีบไปรับบริการขอคำปรึกษาจากสถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาลของรัฐ หรือเอกชนเขตเมืองทุกแห่งที่สะดวก



บทสรุปเชิงนโยบาย
1.        ควรมีแผนยุทธศาสตร์เอดส์ในระดับจังหวัด กับเขตเมืองใหญ่ที่เชื่อมโยงกัน และมีส่วนร่วมผูกพันในการปฏิบัติกับองค์กรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สามารถติดตามผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม 
              2.  สำนักงานเทศบาล ควรมอบนโยบาย สนับสนุนการดำเนินงาน และกำกับ ติดตาม กิจกรรมป้องกันโรคเอดส์และเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงในแต่ละสถานประกอบการ และชุมชนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
              3. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในเขตเมือง ควรให้ความร่วมมือแบ่งปันคืนข้อมูลและชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงแยกเป็นรายเขตเทศบาล ประสานให้เกิดแผนที่ทำงาน  ระดมทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรมป้องกัน ที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม  ก่อให้เกิดการประสาน เชื่อมโยงสนับสนุนกันและกัน ของแต่ละภาคส่วน องค์กร เอื้อประโยชน์ในการทำงานระหว่างกัน
              
   

" สวมเสื้อผ้าเพื่อปกป้องร่างกาย สวมถุงยางอนามัยเมื่อเสี่ยงทุกครั้ง หยุดยั้งโรคเอดส์

ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

บทสรุปเชิงนโยบาย ฉบับที่ 1/2560 ตอน ไข้หวัดใหญ่ภัยช่วงฤดูหนาว

ความเป็นมา
          ในแต่ละปีกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 7-9 แสนราย ในจำนวนนี้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ต้องรับไว้โรงพยาบาลเกือบ 76,000 ราย  ในเขตเมืองใหญ่ 5 ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 11 เมือง มีกลุ่มผู้ที่เสี่ยงป่วยรุนแรง ได้แก่หญิงมีครรภ์ เสี่ยงป่วยรุนแรงกว่าคนทั่วไป 4 เท่า ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ ไต เบาหวาน โรคเลือด มะเร็ง เอดส์ ฯลฯ ผู้พิการทางสมอง คนอ้วนมาก (น้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป)  เด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 2 ปี   ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป


ผลกระทบ
           โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อได้ง่าย โดยเชื้อจะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ  เมื่อมีการไอ จามรดกัน การหายใจสูดลมหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในฝอยละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยถูกผู้ป่วยไอจามรด ในระยะ 1 ช่วงแขน การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือมือสัมผัสเชื้อไวรัสแล้วนำมาขยี้ตา จับต้องจมูก  ปาก การจับต้องสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย เช่น โทรศัพท์ แป้นคอมพิวเตอร์ ผ้าเช็ดมือ ลูกบิดประตู  แล้วใช้มือมาแคะจมูก ขยี้ตา จับปาก 



            เชื้อโรคจะไปเจริญอยู่ในลำคอและเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ป่วย หลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มากที่สุดในช่วงป่วย 3 วันแรก  (มีโอกาสแพร่เชื้อได้มากสุด และอาจแพร่ได้นานถึง 7 วัน) ส่งผลให้ หลังได้รับเชื้อ 2-3 วัน (มักไม่เกิน 7 วัน) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง เป็นเวลา 3 - 4 วัน  ปวดศีรษะมาก  หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล คัดจมูก  ไอ จาม  เจ็บคอ เบื่ออาหาร  อ่อนเพลีย  บางคนอาจมีอาเจียน ท้องเสียด้วย


คำแนะนำ
           หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล คือ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง, ไข้สูง ไม่ลดลงภายใน  2 วัน , ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หอบเหนื่อย , ซึม อ่อนเพลียมาก เด็กร้องไห้งอแงมาก, กินอาหารไม่ได้ หรือกินน้อยมาก , อาเจียน ท้องร่วงมาก มีภาวะขาดน้ำ เช่น ผิวแห้ง ริมฝีปากแห้ง ตาโหล ปัสสาวะน้อย , ปลายมือปลายเท้ามีสีม่วงคล้ำ
           ถ้าอาการป่วยไม่รุนแรง คือ ไข้ไม่สูง ไม่อ่อนเพลียมาก พอรับประทานอาหารได้  และนอนหลับพักผ่อนได้  ควรดูแลรักษาตนเองที่บ้าน คือ  รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซทามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน)  และยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร หากติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องรับประทานทานยาปฏิชีวนะให้หมดตามที่แพทย์สั่ง เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำสะอาดอุ่นเล็กน้อยเป็นระยะ  เช็ดแขนขาย้อนเข้าหาลำตัว  เช็ดบริเวณหน้าผาก  ซอกรักแร้  ขาหนีบ  ข้อพับแขนขา  และใช้ผ้าห่มปิดหน้าอกไว้  เพื่อไม่ให้หนาวเย็นจนเสี่ยงเกิดปอดบวม หากผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น ต้องหยุดเช็ดตัวและห่มผ้าให้อบอุ่นทันที   ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ งดดื่มน้ำเย็นจัด  รับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก และผลไม้ให้พอเพียงทำจิตใจให้สบาย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และอากาศถ่ายเทสะดวก อาการจะค่อย ๆ ทุเลา และหายป่วยภายใน 5 ถึง 7 วัน ห้ามออกกำลังกายหรือทำงานหนัก  เพราะอาการอาจทรุดลงได้



บทสรุปเชิงนโยบาย
           หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในเขตเมือง ควรเร่งประชาสัมพันธ์ แจ้งกระตุ้นเตือนในทุกช่องทางการสื่อสาร ให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขอนามัยที่ดี โดยการออกกำลังกาย การรับประทานเนื้อ ไข่ นม ผัก ผลไม้ เช่น ฝรั่ง ซึ่งอุดมด้วยวิตามินซี การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ  และการใช้ช้อนกลาง และ 5 พฤติกรรมป้องกันไข้หวัดใหญ่ ที่แนะนำ คือ
- ปิด..ปิดปากจมูกเมื่อป่วย ไอจาม ใช้กระดาษทิชชู สวมหน้ากากอนามัย  หรือไอใส่ต้นแขนตนเอง   
- ล้าง..ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนรับประทานอาหาร หลังไอจาม สั่งน้ำมูก ดูแลผู้ป่วย ขับถ่าย จับต้องสัตว์  และล้างเช็ดทำความสะอาดสิ่งของ พื้นผิว ที่มีคนสัมผัสมาก
- เลี่ยง..เลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้มีอาการป่วย มีไข้ ไอ จาม เลี่ยงสถานที่คนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก (โดยเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาดมาก)
- หยุด..หยุดงาน หยุดเรียน หยุดกิจกรรมกับผู้อื่น เมื่อป่วย เพื่อให้หายป่วยเร็ว และไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น
- ฉีด..ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข



" ล้างมือ  ปิดปาก จมูกเมื่อไอ จาม ฉีดวัคซีนเร็วไว ป้องกันไข้หวัดใหญ่ในเขตเมืองได้

ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ


วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กฎหมายลงโทษหนักเมาแล้วขับในญี่ปุ่น ลดอุบัติเหตุทางถนนได้ถึง 70% จริงไหม ??

              จากการถอดบทเรียนผลการดำเนินงานอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยปี 2560 พบว่าแม้จำนวนครั้งและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง แสดงให้เห็นว่าดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุลดลง และการดำเนินมาตรการควบคุมความเสี่ยงได้ผลในระดับหนึ่ง  แต่ยังมีปัจจัยสำคัญจากความร่วมมือของผู้ใช้รถใช้ถนนในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร รวมทั้งการเข้มงวดกวดขันวินัยจราจรอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน 




              สาเหตุหรือสันนิษฐานมูลเหตุเบื้องต้นของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเมาสุรา ขับรถเร็ว รถจักรยานยนต์ และยังพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เนื่องจากไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย สะท้อนให้เห็นว่า แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้กำหนดมาตรการและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเพิ่มขึ้นแล้ว แต่การขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนนและพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ
              ฐานข้อมูลอุบัติเหตุย้อนหลังพบว่า บริเวณสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบนถนนในเขตชนบท 47-51 เปอร์เซ็นต์ และถนนในเขตเมืองร้อยละประมาณ 20-22 ประเภทของยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุดคือรถจักรยานยนต์มากกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับพาหนะทั้งหมด
              คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ญี่ปุ่น  ได้สรุปบทเรียนการจัดการความปลอดภัยทางถนนในประเทศญี่ปุ่น คือ เมื่อก่อนนี้ประเทศญี่ปุ่นก็ประสบกับปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ต่างจากประเทศอื่นในแถบเอเชีย  สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ คือ การเมาแล้วขับ  สมัยก่อน กฎหมายที่ใช้ลงโทษคนเมาแล้วขับของประเทศญี่ปุ่นไม่มีบทลงโทษที่รุนแรง 
              แต่มีเหตุอุบัติเหตุครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่คนขับรถบรรทุก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถขึ้นทางด่วน แล้วชนท้ายรถเก๋งที่มากันทั้งครอบครัว ส่งผลให้รถคันนั้นเกิดไฟลุกไหม้ เด็ก 2 คน และครอบครัวที่ถูกรถสิบล้อชนถูกไฟคลอกจนเสียชีวิต แต่ผู้ก่อเหตุกลับถูกลงโทษจำคุกแค่ 4 ปี ในข้อหาประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ต่อมาเกิดอุบัติเหตุที่คนเมาไม่มีใบอนุญาตขับรถ รถไม่มีประกันอุบัติเหตุ และไม่มีการตรวจสภาพ ขับรถชนนักศึกษาที่เดินอยู่บนทางเท้าเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ ผู้ก่อเหตุถูกตัดสินจำคุก 5 ปี 6 เดือน ในข้อหาเดียวกัน  
                 จาก 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น และอีกหลายๆ กรณีของอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ ผู้ก่อเหตุนั้นๆ กลับได้รับโทษเพียงน้อยนิด ทำให้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมญี่ปุ่นอย่างหนัก จนนำมาสู่การปรับปรุงและแก้ไขกฏหมายการเมาแล้วขับจาก ข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นข้อหา “ก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความประมาท ” ซึ่งผู้ก่อเหตุมีโทษจำคุก 15 ปี ในกรณีที่ทำให้เหยื่อบาดเจ็บ และจำคุกอีก 20 ปี ในกรณีที่ทำให้เหยื่อเสียชีวิต 
                และผู้ที่โดยสารมาด้วย ก็จะถูกจำคุกลดหลั่นลงไปในข้อหา "ให้ความช่วยเหลือการขับรถที่อันตรายโดยไม่ยับยั้งและให้การสนับสนุน"  นอกจากนี้เจ้าของร้านอาหารที่คนเมาแล้วขับไปใช้บริการ ก็จะถูกดำเนินคดีด้วยในข้อหา "เสิร์ฟเหล้าไม่ยังยั้ง"  หลังจากที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายเมาแล้วขับ ทำให้สถิติของอุบัติเหตุจราจรที่เกิดจากเมาและขับลดลง จากเดิมในปี คศ.1960 มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 25,400 คนต่อปี แต่ในปี ค.ศ.2,000 มีผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 7,558 คนต่อปี หรือลดลงกว่าร้อยละ 70
               สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในประเทศไทย คือสถิติการดื่มแอลกอฮอล์ ที่คนไทยนั้นเป็นนักดื่มระดับต้นๆ ในภูมิภาค เฉลี่ยดื่มเหล้า 8 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งเท่ากับว่าคนไทยทั้งประเทศจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 560 ล้านลิตร ซึ่งเป็นสถิติที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นหากประเทศไทยแก้ปัญหาการดื่มนี้ได้  ก็จะสามารถลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในท้องถนนได้ด้วย
                ในประเทศไทยกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินความผิดกับบุคคลที่เมาแล้วขับ คือ กฎหมายอาญามาตรา 291 ที่ลงโทษจำคุกบุคคลที่เมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และในมาตรา 300 บุคคลที่เมาแล้วขับ จนส่งผลให้บุคคลอื่นบาดเจ็บสาหัส  มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 พันบาท  ซึ่งเป็นโทษที่น้อยมากๆ คล้ายกับกฏหมายของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเมื่อกว่า 57 ปีที่แล้ว

ที่มา :  1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ,การสัมมนาระดับชาติเรื่อง ความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 10 “ หัวข้อ  “การเดินทางปลอดภัย ไม่ไกลเกินฝัน” , สืบค้นเมื่อ 11 ต.ค.2560
          2. การประชุมวิเคราะห์สรุปผลการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กระทรวงมหาดไทย , สืบค้นเมื่อ 11 ต.ค.2560
ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

วันอังคารที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ปัจจัยอะไร ช่วยลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในเขตเมือง ?

          การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ในเมืองใหญ่ของประเทศไทย  จัดเป็นปัญหาที่สาคัญของประเทศและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี  การเกิดอุบัติเหตุจราจรไม่ใช่เรื่องบังเอิญ  แต่ก็สามารถป้องกันให้ลดลงได้ จากปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจราจร  คือ ด้านบุคคล ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อม



          การป้องกันหรือการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการหลายๆมาตรการอย่างเป็นระบบ  มีบทเรียนในต่างประเทศหลายแห่งแสดงให้เห็นว่า สามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและอัตราตายได้อย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ที่เป็นผลจากการพิจารณาปัญหาอย่างเป็นระบบ  โดยเน้นมาตรการทั้งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ยานพาหนะ และผู้ใช้ถนน มากกว่าการเน้นที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้ถนนแต่เพียงอย่างเดียว
           ประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศได้มีการดำเนินการด้วยรูปแบบง่ายๆ ที่ได้ผล เช่น การติดตั้ง Rumble strips ในประเทศกาน่า สามารถลดการชนลงได้ร้อยละ 35 ลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 55 โดยมีต้นทุนการดำเนินงานต่ำเมื่อเทียบกับการบังคับใช้กฎหมายด้วยวิธีอื่น  ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรของ European Union Road Federation ก็ให้น้้ำหนักของการแก้ไขปัญหาด้วยวิศวกรรมจราจรทางถนนค่อนข้างสูง  เนื่องจากได้ผลเร็วเมื่อเทียบกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น




         The Haddon Matrix  ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ปัจจัย คือ บุคคล ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อมในระหว่าง 3 ห้วงเวลาของ อุบัติเหตุ คือ ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ซึ่งประกอบด้วย 9 ช่องที่เป็นผลลัพธ์ได้จำลองระบบพลวัตหลายลักษณะ  โดยแต่ละช่องจะเปิดโอกาสให้ใช้การเข้าแทรกแซงเพื่อลดการบาดเจ็บจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนน



ที่มา : William Haddon Jr. (อ้างใน Peden M., 2004)
ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คนเมืองจะใช้สารซักล้าง คุมกำเนิดยุงในบ้านเรือนได้หรือไม่ ?

แมลงพาหนะนำโรคที่ก่อให้เกิดโรคระบาดในคนเขตเมืองจำนวนมากทุกปี เช่น โรคไข้เลือดออก  โรค  โรคไข้ซิกา ไข้สมองอักเสบ  คือ ยุงลาย โดยเฉพาะแหล่งน้ำขังนิ่งเพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมากขึ้น  รวมทั้งบางพื้นที่ประชาชนยังอาศัยอยู่ภายนอกอาคารบ้านเรือน ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดมากกว่าภาวะปกติ ดังนั้น ชุมชน โรงเรียน วัด ประชาชนแต่ละครัวเรือน สามารถควบคุมกำจัดยุงพาหะนำโรคด้วยวิธีการง่ายๆ ด้วยตัวเอง ด้วยสารซักล้างในครัวเรือน มี 2 วิธีดังนี้
          1. การฉีดพ่นตัวเต็มวัย  ได้โดยการใช้สารซักล้างในครัวเรือน ได้แก่ น้ำยาล้างจาน แชมพู สบู่เหลวหรือผงซักฟอกผสมน้ำ การเตรียมทำโดยการเจือจางน้ำยาล้างจานกลิ่นมะนาวกับน้ำเปล่าในอัตราส่วนผสมน้ำยาล้างจาน 1 ช้อนชาผสมกับน้ำ 1 ลิตร  
             นำมาฉีดพ่นต่อเนื่องไปที่ตัวยุง ที่เกาะพักตามมุมผนังในห้องน้ำหรือภาชนะ วัสดุที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย บริเวณที่เกาะพักของยุง บริเวณแหล่งน้ำ หรือบริเวณที่ชื้น เช่น ในห้องน้ำ หรือตามผนังภายในภาชนะ วัสดุ ที่เก็บขังน้ำต่าง จะเห็นได้ว่ายุงตกจมน้ำตายทันที  หรือฉีดพ่นบนยุงลายที่พบเห็นเกาะพักเป็นกลุ่มตามซอกมุมบ้าน บริเวณกองผ้า ผ้าห้อยแขวน บริเวณที่เก็บหมอนมุ้งใกล้ที่นอนหรือห้องนั่งเล่น    





        2.  การกำจัดตัวโม่งและลูกน้ำยุง เตรียมโดยใช้ผงซักฟอกทั่วไป ในอัตราส่วน ผงซักฟอก 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำในแหล่งเพาะพันธุ์ปริมาณ 2 ลิตร โดยโรยลงในแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆ โดยตรง ในภาชนะ วัสดุแหล่งเพาะพันธุ์ขนาดเล็กต่างๆ  ผงซักฟอกจะแพร่กระจายปกคลุมทั่วผิวน้ำ เมื่อลูกน้ำและตัวโม่งของยุงขึ้นมาหายใจ จะดูดซึมเอาสารเข้าสู่ระบบหายใจ ทำให้ระคายเคืองต่อระบบ และค่อยๆ ตายไปในที่สุด
          นอกจากนั้นเรายังสามารถทำกับดักยุง โดยใส่ผงซักฟอกหรือสบู่ลงในภาชนะต่างๆ ขนาดพอเหมาะ เช่น ถ้วย ฯลฯ แล้วเทน้ำลงไปคนผสมให้เข้ากัน เอาไปวางไว้ตามมุมต่างๆ ของบ้าน จำนวนยุงจะค่อยๆ ลดลงไป เมื่อผ่านไปราว 10 วัน เราจะสังเกตุพบว่าน้ำในภาชนะเหล่านี้จะเป็นสุสานของยุงมากมาย เราก็เทน้ำนั้นทิ้ง และใส่ผงซักฟอกใหม่เป็นประจำ  ผงซักฟอกหรือสบู่จะมีลักษณะเป็นด่าง ไข่ของยุงเมื่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เป็นด่างก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้  จำนวนยุงก็จะค่อยๆ ลงน้อยลง 

        นอกจากวิธีง่ายๆ ดังกล่าวแล้ว  เราควรจัดการสภาพแวดล้อม  กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆ ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของลูกน้ำยุง เช่น เก็บ ทำลาย ทำความสะอาดภาชนะที่สามารถขังน้ำได้ที่อยู่บริเวณรอบๆ บ้านเท่าที่ทำได้ การควบคุมทางกายภาพ เช่น การใช้ไม้ตบยุงแบบไฟฟ้า ตบยุงที่บินมารบกวนโดยตรง หรือหลอดไฟดักยุง
การใช้สารเคมี  กรณีควบคุมด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล เช่น ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ ลงในภาชนะน้ำใช้ที่ไม่สามารถปิดฝาได้ หรือการพ่นควบคุมยุงโดยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงที่มีความปลอดภัยสูงแบบสเปรย์กระป๋อง พ่นในห้องที่ปิดมิดชิด ตามใต้ตู้ เตียง มุมอับต่างๆ ในบ้าน แล้วทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที จึงเปิดประตู หน้าต่างระบายสารเคมีออกไป และเก็บกวาดซากยุงทิ้ง ไม่ควรพ่นในห้องที่มีผู้ป่วยและเด็กอาศัยอยู่
การป้องกันตัวเองจากยุงกัด โดยการสวมใส่เสื้อผ้าแขน ขายาวเมื่ออยู่นอกบ้าน ทาโลชั่นป้องกันยุง และนอนในมุ้ง หรือมุ้งชุบสารเคมีกำจัดแมลงเสมอ  เมือต้องนอนในห้องที่ไม่มีมุ้งลวดหรือนอนนอกบ้าน


         ยุงลายที่เป็นพาหะโรคไข้เลือดออก บางปีมีผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนคน  บางปีหลายหมื่นคน ดังนั้นการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง  คือวิธีคุมกำเนิดไม่ยอมให้ยุงเกิดมาได้  จะช่วยลดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ในลูกหลานและญาติมิตรได้

ที่มา : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก  กรมควบคุมโรค
ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

คนเมือง เสี่ยงเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต จริงหรือ ?

       เนื่องจากคนเมือง ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย  จึงเกิดโรคที่คุกคามคนเมืองลำดับต้นๆ คือ โรคหลอดเลือดสมอง หรือที่ชาวบ้านรู้จักว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต   จากรายงานพบว่าทั่วโลกมีรายงานเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน  ในคนไทยพบการเสียชีวิตจากอัมพาตปีละ 13,353 คน เฉลี่ย 3 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง ป่วยปีละ 130,000 คน อัตราป่วยสูงสุดที่ภาคเหนือ รองลงมาคือภาคกลาง  พบอัตราป่วยเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุกอายุ 10 ปีที่เพิ่มขึ้น  คาดว่าในปี 2573  ผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 16 ล้านคน  ดังนั้นผู้ที่อายุมากกว่า 55 ปี จึงเสี่ยงป่วยเป็นอัมพาตในบั้นปลายชีวิต


           โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้มีอาการของแขน  ขาหรือหน้า ซีกใดซีกหนึ่งชา อ่อนแรงหรือเคลื่อนไหวลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ อย่างทันทีทันใด ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงตีบตัน หรือแตก จนเกิดการทำลายหรือตายของเนื้อสมอง ทำให้สมองสูญเสียการควบคุมการทำงานของอวัยวะในร่างกายอาการทีเกิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ขาดเลือดไปเลี้ยงและความรุนแรงขึ้นอยู่กับการทำลายเนื้อสมอง  โรคนี้ แบ่งเป็น  2 ประเภท     คือ 
             - โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน คือ มีการอุดตันของหลอดเลือดซึ่งอาจเกิดจากการที่มีก้อนเลือดจากหัวใจหรือก้อนไขมันจากหลอดเลือดที่คอมาอุดที่หลอดเลือดในสมอง หรืออาจเกิดจากภาวะที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (เลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ) ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ 
            - โรคหลอดเลือดสมองแตก  โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงมานาน ทำให้เกิดความผิดปกติที่หลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง และเกิดการแตกของหลอดเลือด ก้อนเลือดจะไปกดเนื้อสมอง ทำให้ขาดออกซิเจน ขาดอาหาร  การรักษาของโรคนี้ทำได้ดังนี้คือ  รักษาด้วยยา  ด้วยการผ่าตัด ด้วยการฉายรังสี  การทำกายภาพฟื้นฟู
             ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา โรคหัวใจ เช่น โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ ดำเนินชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ ขาดการเคลื่อนไหวขาดการออกกำลังกาย และภาวะเครียด  โดยสามารถสังเกตุอาการเริ่มต้น ได้ดังนี้คือ 
           1) ชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีกที่หน้า หรือขา 
           2)  เวียนศีรษะ หรือหมดสติ 
           3) ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน 
           4) พูดไม่ชัดหรือลิ้นแข็ง ตามัวหรือเห็นภาพซ้อน   



         ถ้ามีอาการข้างต้นอย่างน้อย 1 อาการ ให้รีบไปตรวจรักษาอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยด่วนภายใย 3 ชั่วโมง จะได้ช่วยรักษาชีวิตและสามารถฟื้นฟูกลับมาได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด   ประชาชนทุกคนสามารถป้องกันการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือ อัมพฤกษ์ อัมพาต ได้ด้วยการเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่สุขภาพและลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด ได้แก่ 
         1) การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันอยู่แล้วให้ควบคุมความดันให้น้อยกว่า 120/90 มิลลิเมตรปรอท  
         2) สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ควบคุมระดับของน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด ( ก่อนรับประทานอาหารเช้าระดับน้ำตาลในเลือด 70-110 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชม.ระดับน้ำตาลไม่เกิน 140 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ 
         3) ลดหรือเลิกสูบบุหรี่ 
         4) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่ต่ำกว่า 30 นาทีต่อวัน  
         5) บริโภคอาหารให้พอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย งดอาหารรสเค็ม รสหวาน และไขมันสูง  
      6) ควบคุมให้น้ำหนักตัวที่เหมาะสม รอบเอวผู้ชายไม่เกิน 90 เซนติเมตร และผู้หญิงไม่เกิน 80 เซนติเมตร 
          7) ทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่อนคลายเพื่อลดภาวะความเครียด  
          8) ตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

                                    
             หากคนในเขตเมืองหมั่นวัดความดันโลหิต ควบคุมน้ำตาลในเลือด น้ำหนักตัว ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดอาหารเค็ม หวาน ไขมันสูง ผ่อนคลายความเครียด ก็จะสามารถป้องกันโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ที่จะคุกคามชีวิตได้

ที่มา : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก
ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ยุงลายพาหะโรคไข้เลือดออก ออกลูกดกมาก ชอบกัดคนประเภทแบบไหน ?

         เนื่องจากโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ และไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ครบทุกสายพันธุ์  ยุงลายตัวเมียที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกเพียง 1 ตัว จะสามารถวางไข่ได้ครั้งละ 50-150 ฟอง ในช่วงชีวิต 60 วันของยุงตัวเมียหนึ่งตัว  จึงวางไข้ได้บ่อยราว 4-6 ครั้ง  ตลอดชีวิตของยุงลายตัวเมียจึงมีลูกได้ดกมากถึงราว 500 ตัว  



จากข้อมูลการศึกษาวิจัย พบว่า ยุงมักจะชอบกัดคน 6 ประเภทด้วยกัน ดังนี้คือ  
    1.  ยุงชอบกัดเด็กมากกว่าผู้ใหญ่เพราะกลิ่นและลักษณะผิวหนัง  
    2.  ยุงชอบกัดผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเพราะฮอร์โมนแตกต่างกัน  
    3.  ยุงชอบกัดคนที่หายใจแรงเพราะคาร์บอนไดออกไซด์จากลมหายใจจะเป็นตัวดึงดูดยุง  
    4.  ยุงชอบกัดคนที่ตัวร้อนเพราะอุณหภูมิบริเวณผิวหนังจะสูง  
    5.  ยุงชอบกัดคนที่มีเหงื่อออกมาก  
    6.  ยุงชอบกัดคนที่ใส่เสื้อผ้าสีเข้ม  

           แต่ทุกคนก็มีโอกาสโดนยุงกัดได้หมด  ควรระวังและป้องกันตัวไม่ให้ถูกยุงกัดจะดีที่สุด  หากสงสัยบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้สูงลอยนานเกิน 2 วัน ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะหรือปวดกระบอกตา อาจพบจุดเลือด ที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยเป็นไข้เลือดออก และรีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ให้ระลึกเสมอว่าฤดูฝนนี้เป็นช่วงของการระบาดของโรคไข้เลือดออก อย่านิ่งนอนใจ
           ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ โดยการตัดตอนวงจรชีวิตของยุงจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด  โดยการป้องกันไม่ให้ยุงวางไข่ได้  หรือไข่แล้วก็ไม่ให้กลายเป็นยุง  เน้นที่การควบคุมลูกน้ำด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ เนื่องจากสามารถทำลาย ได้ง่ายและไม่สิ้นเปลือง
            คำแนะนำการป้องกันไม่ให้ยุงกัด คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ฉีดไล่ยุง เครื่องไล่ยุงไฟฟ้า ใช้ยาจุดกันยุง  ยาทากันยุงกัด หรือใช้กลิ่นของสมุนไพรไล่ยุง เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น  การนอนในมุ้ง ติดมุ้งลวด หรือเปิดพัดลมไล่ยุง



            ส่วนกลยุทธ์การปฏิบัติเมื่อมีคนในบ้านหรือข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก  คือ  ควรจะบอกคนในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้เลือดออก ให้สมาชิกในครอบครัว ป้องกันการถูกยุงกัดตามคำแนะนำ  เนื่องจากไข้เลือดออกระบาดโดยมียุงลายเป็นพาหะแพร่เชื้อ เพื่อให้คนในชุมชนเตรียมการป้องกันตนเองและคนในบ้าน  แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อมาดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคทันที 
          สำรวจภายในบ้าน รอบบ้าน รวมทั้งเพื่อนบ้านว่ามีแหล่งแพร่พันธุ์ยุงหรือไม่ หากมีให้จัดการเสีย  เฝ้าดูอาการของสมาชิกในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้หรือไม่ หากมีไข้ให้ระวังว่าอาจจะเป็น ไข้เลือดออก  ให้ผู้ป่วยนอนในมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด



ที่มา :  1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
           2. สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก
ผู้เรียบเรียง : ภก.เชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ