วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

บทความทางวิชาการ ตอน โรคเอดส์ สิทธิสุขภาพ ปราศจากตีตรา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ความเป็นมา
           จากรายงานของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่าในปี 2559 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกสะสมราว 36.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ราว 1.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ราว 1.0 ล้านคน  โดยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสแล้วประมาณ 19.5 ล้านคน
             สำหรับประเทศไทย ในปี 2559 พบรายงานมีผู้ได้รับการตรวจเลือดโดยสมัครใจในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ทุกสิทธิสุขภาพ ประมาณ 8.08 แสนคน  สามารถค้นพบผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ รายใหม่ได้ประมาณ 2.67 หมื่นคน (คิดเป็นร้อยละ 3.30 ของผู้ตรวจเลือด) ในจำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อฯ ถึง 585 คน ผู้มีผลเลือดพบเชื้อฯ ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานกลุ่มอายุช่วง 25-49 ปี ถึงประมาณ  2  ใน 3  ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ทั้งหมด   สัดส่วนของอัตราเพศชาย ต่อเพศหญิง พบว่าเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ  2.19  เท่า
             คาดประมาณว่าปี 2560  มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีมียังมีชีวิตอยู่ประมาณ 4.42 แสนคน โดยมีผู้รู้สถานการณ์ติดเชื้อเอชไอวีของตนเองและได้รับการวินิจฉัยแล้ว ประมาณ 4.31 แสนคน (ร้อยละ 98 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด) ในจำนวนนี้มีผู้ที่กำลังรักษาด้วยยาต้านไวรัสประมาณ 3.02 แสนคน (ร้อยละ 70 ของผู้ที่ได้รับวินิจฉัยแล้ว) 
             จากการวิเคราะห์ข้อมูล สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ  ผู้ติดเชื้อเอชไอวี /ผู้ป่วยเอดส์ จะอยู่ในเขตเมืองถึงประมาณเกือบร้อยละ 50  ที่เหลือจะกระจายอยู่นอกเขตเมือง  



ผลกระทบ
             กว่า 30 ปีที่ผ่านมา การติดเชื้อเอชไอวีเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมต่อทุกประเทศทั่วโลก  ด้วยขณะนี้โรคเอดส์ยังไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงยาต้านไวรัสที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อเอชไอวีในร่างกาย และลดการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสเท่านั้น และต้องกินยารักษาไปตลอดชีวิต เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
              จุดอ่อนหรือจุดเปราะบางที่ผ่านมา คือ ประชาชนยังคงมีพฤติกรรมสุขภาพทางเพศเสี่ยงสูงโดยเฉพาะในกลุ่มคู่ผลเลือดต่างในคู่สามีและภรรยา  ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การเปลี่ยนคู่นอนและไม่รู้สถานะของการติดเชื้อเพราะยังไม่ได้ตรวจเลือด  เยาวชนมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นอายุเฉลี่ยการมีเพศสัมพันธ์ลดลง อัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เรื่องโรคเอดส์ยังไม่สม่ำเสมอและทั่วถึง  จึงยังไม่เกิดความตระหนักที่มากเพียงพอ ส่งผลให้ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ลดลงตามเป้าหมายที่กำหนด  อีกทั้งการเข้าถึงถุงยางอนามัยยังไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป

คำแนะนำ

              โรคเอดส์เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเอชไอวี  ช่องทางหลักการติดต่อถ่ายทอดเชื้อนี้มากที่สุดกว่าร้อยละ 84 คือ ทางการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีเชื้อในร่างกายกับบุคคลทั่วไป ทั้งระหว่างชายกับหญิง ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ทั้งโดยทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และการใช้ปากกับอวัยวะเพศคู่นอนที่มีเชื้อเอชไอวี  ที่เหลือมาจากสาเหตุอื่น  เช่น ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน  จากเลือด  จากแม่สู่ลูก  ฯลฯ



               หากมีอาการผิดปกติใดๆ หลังการมีเพศสัมพันธ์ ควรประเมินตัวเองเบื้องต้นด้วยแบบประเมินออนไลน์ที่ที่เว็ปไซต์  https://t.co/X7tf7iww2s  หรือการให้แอพพลิเคชั่น Line เพิ่มเพื่อนแสกนคิวอาร์โค้ด และเปิดทำแบบประเมินตนเองออนไลน์ฯ  ถ้าผลว่าเสี่ยงสูงควรรีบไปรับบริการขอคำปรึกษาจากสถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาลของรัฐ หรือเอกชนเขตเมืองทุกแห่งที่สะดวก



บทสรุปเชิงนโยบาย
1.        ควรมีแผนยุทธศาสตร์เอดส์ในระดับจังหวัด กับเขตเมืองใหญ่ที่เชื่อมโยงกัน และมีส่วนร่วมผูกพันในการปฏิบัติกับองค์กรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สามารถติดตามผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม 
              2.  สำนักงานเทศบาล ควรมอบนโยบาย สนับสนุนการดำเนินงาน และกำกับ ติดตาม กิจกรรมป้องกันโรคเอดส์และเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงในแต่ละสถานประกอบการ และชุมชนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
              3. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในเขตเมือง ควรให้ความร่วมมือแบ่งปันคืนข้อมูลและชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงแยกเป็นรายเขตเทศบาล ประสานให้เกิดแผนที่ทำงาน  ระดมทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรมป้องกัน ที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม  ก่อให้เกิดการประสาน เชื่อมโยงสนับสนุนกันและกัน ของแต่ละภาคส่วน องค์กร เอื้อประโยชน์ในการทำงานระหว่างกัน
              
   

" สวมเสื้อผ้าเพื่อปกป้องร่างกาย สวมถุงยางอนามัยเมื่อเสี่ยงทุกครั้ง หยุดยั้งโรคเอดส์

ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น