วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

บทความทางวิชาการ ตอน ลดอุบัติทางถนนในเมืองใหญ่ ทำอย่างไรจึงจะได้ผล ?

ความเป็นมา
           องค์การอนามัยโลก รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1.25 ล้านคนต่อปี  หรือกว่า 3,400 คนต่อวัน ผู้เสียชีวิตจะอยู่ในกลุ่มอายุ น้อย 15-29 ปี โดยผู้เสียชีวิต 3 ใน 4  เป็นเพศชาย  ราวร้อยละ 49 ของการเสียชีวิต คือกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ คนเดินถนน และผู้ใช้จักรยาน   ปัจจัยเสี่ยงหลัก 5 ประการของการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ เมาแล้วขับ การขับรถเร็วเกินกำหนด การไม่ใช้หมวกกันน็อคเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ การไม่ใช้เข็มขัดนิรภัย และการไม่ใช้เบาะนิรภัยในรถสำหรับเด็ก


          มากกว่า 90% ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และปานกลางถึงแม้ว่าประเทศเหล่านี้จะมีจำนวนยานพาหนะน้อยเพียงครึ่งหนึ่งของยานพาหนะทั่วโลกก็ตาม หากไม่มีการดำเนินการใดๆ จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในแต่ละปีคาดว่าจะกลายเป็นเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 7 ภายในปี ค.. 2030  มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงเวลาครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21 จะมีผู้เสียชีวิต 75 ล้านคนและผู้บาดเจ็บ 750 ล้านคนจากอุบัติเหตุทางถนน    
         จากรายงานขององค์การอนามัยโลก จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับ 2 ของโลก  อันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยมากถึงปีละประมาณ 24,000 คน หรือชั่วโมงละ 3 คน  นอกจากนี้ พบว่ามีผู้บาดเจ็บเกือบ 1 ล้านคน นอนรักษาตัวโรงพยาบาลประมาณ 2 แสนคนต่อปี และมีผู้พิการอีกปีละกว่า 7,000 คน
           พบว่าอุบัติเหตุทางถนนในเมืองใหญ่ ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 30 40 ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งจังหวัด เนื่องจากมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น มีแรงงานหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมือง มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่ง  อัตราการเสียชีวิตจำนวนมากในเมืองใหญ่เช่นนี้ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน         
          

ผลกระทบ
           อุบัติเหตุทางถนนไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเศร้าโศกและทุกข์ทรมานเท่านั้น  แต่ยังส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจของผู้ประสบเหตุ ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติในภาพรวมด้วย คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี  เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศ ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้บาดเจ็บจำนวนมากสร้างภาระหนักต่อระบบสุขภาพ ต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของโรงพยาบาล จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่งชี้ว่า นี่คือวิกฤติด้านสาธารณสุข และการพัฒนาที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าเดิมหากไม่ได้รับการแก้ไข 

บทเรียนความสำเร็จ
            องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประเทศต่างๆ แก้ไขเรื่องความปลอดภัยทางถนน  ในระยะสั้นควรดำเนินมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิผล เช่น การผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยง การบังคับใช้กฎหมาย และสนับสนุนการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเพิ่มความตระหนักต่อสาธารณะ ส่วนในระยะยาว ให้เน้นที่การดำเนินการในภาพรวมซึ่งครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ ผู้ใช้ท้องถนน และสภาพท้องถนน  เนื่องจากร่างกายมนุษย์นั้นได้รับการบาดเจ็บได้ง่าย และทำความผิดพลาดได้เสมอ  
           ประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านความปลอดภัยทางถนนได้นำแนวคิดนี้ไปใช้งาน และสามารถลดการบาดเจ็บบนท้องถนน ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้เดินเท้าลงได้อย่างมาก เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้สร้างโซนการขับขี่ด้วยความเร็ว 30 กม./ชม. ออกแบบถนนและยกระดับทางข้ามเป็นแบบเดียวกัน ทำให้สามารถมองเห็นได้ง่าย และมาตรการด้านพาหนะ เช่น ด้านหน้ารถยนต์ที่เป็นมิตรต่อคนเดินถนน  ด้านข้อมูลและการศึกษาด้านพฤติกรรม ในกลุ่มบุคคลที่เมาแล้วขับ และขับรถเร็วเกินกำหนด  
           ข้อมูลเหล่านี้ส่งผลดีมากขึ้นต่อความปลอดภัยของคนเดินถนน นอกจากนี้ยังให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความต้องการเฉพาะของเด็กและคนชรา ประชากรของประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ยอมรับและสนับสนุนเพื่อสร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัย และความก้าวหน้าที่มุ่งเน้นที่ความปลอดภัยทั่วทั้งชุมชน

บทสรุปเชิงนโยบาย
            ระหว่างปี ค.ศ.2011-2020 ( พ.ศ.2554-2563) แผนระดับโลกจัดเป็นทศวรรษแห่งการดำเนินการด้านความปลอดภัยทางถนน มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดจำนวนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยได้กำหนด “5 เสาหลักหรือประเด็นเพื่อการป้องกันไว้มาเพื่อชดเชยความผิดพลาดของมนุษย์ คือ การจัดการความปลอดภัยทางถนน , ถนนและการคมนาคมที่ปลอดภัยมากขึ้น , ยานพาหนะที่ปลอดภัยมากขึ้น , ผู้ใช้ถนนที่ปลอดภัยมากขึ้น , การตอบสนองหลังอุบัติเหตุได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น   เพื่อมุ่งที่จะช่วยชีวิตประชาชนพลิกแนวโน้มของการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก สามารถที่จะป้องกันประชาชนมากกว่า 5 ล้านคนไม่ให้เสียชีวิต และกว่า 50 ล้านคนไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ    
           สำหรับประเทศไทย ได้ตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี 2563 หรืออัตราการเสียชีวิต 10 ต่อประชากรแสนคน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะดำเนินการเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการบูรณาการในทุกระดับร่วมกัน  และที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น เทศบาล ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ จึงจะทำให้ปัญหานี้บรรเทาความรุนแรง และลดความสูญเสียลงได้
           ในเขตเมืองใหญ่ควรมีกิจกรรมสำคัญ คือ ส่งเสริมให้มีกลไกการจัดการข้อมูล เพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที  วิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และมีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ผ่านกล้อง CCTV (Situation Room) แล้วนำภาพการเกิดอุบัติเหตุจากกล้อง  มาวิเคราะห์หาสาเหตุ รวมทั้งมีการสอบสวนการบาดเจ็บ เพื่อนำมาแก้ไขความเสี่ยงที่เกิดขึ้น  , จัดให้มีการกำหนดพื้นที่ควบคุมพิเศษเพื่อเป็นเขตจราจรปลอดภัย (Traffic Safety Zones) ในการใช้พื้นที่จราจร  การคาดเข็มขัดนิรภัย , การสวมหมวกนิรภัย , งดใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ , งดใช้สารเสพติดขณะขับขี่ , จัดการความปลอดภัยในเด็ก , จัดการความปลอดภัยของรถจักรยาน และสนับสนุนให้เกิดมาตรการองค์กรความปลอดภัยทางถนนขึ้นในเขตเมือง           


" ลดอัตราอุบัติเหตุทางถนนในเมืองใหญ่ ลดการบาดเจ็บและตายได้ครึ่งหนึ่ง“

เรียบเรียงโดย เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ
ที่มา :  1. ชุดข้อมูลสรุป ความปลอดภัยทางถนน: ข้อเท็จจริงเบื้องต้น  องค์การอนามัยโลก  สืบค้น ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560
          2. สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค  สืบค้น ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น