วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

บทความทางวิชาการ ตอน โรคเอดส์ สิทธิสุขภาพ ปราศจากตีตรา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ความเป็นมา
           จากรายงานของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่าในปี 2559 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกสะสมราว 36.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ราว 1.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ราว 1.0 ล้านคน  โดยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสแล้วประมาณ 19.5 ล้านคน
             สำหรับประเทศไทย ในปี 2559 พบรายงานมีผู้ได้รับการตรวจเลือดโดยสมัครใจในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ทุกสิทธิสุขภาพ ประมาณ 8.08 แสนคน  สามารถค้นพบผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ รายใหม่ได้ประมาณ 2.67 หมื่นคน (คิดเป็นร้อยละ 3.30 ของผู้ตรวจเลือด) ในจำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อฯ ถึง 585 คน ผู้มีผลเลือดพบเชื้อฯ ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานกลุ่มอายุช่วง 25-49 ปี ถึงประมาณ  2  ใน 3  ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ทั้งหมด   สัดส่วนของอัตราเพศชาย ต่อเพศหญิง พบว่าเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ  2.19  เท่า
             คาดประมาณว่าปี 2560  มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีมียังมีชีวิตอยู่ประมาณ 4.42 แสนคน โดยมีผู้รู้สถานการณ์ติดเชื้อเอชไอวีของตนเองและได้รับการวินิจฉัยแล้ว ประมาณ 4.31 แสนคน (ร้อยละ 98 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด) ในจำนวนนี้มีผู้ที่กำลังรักษาด้วยยาต้านไวรัสประมาณ 3.02 แสนคน (ร้อยละ 70 ของผู้ที่ได้รับวินิจฉัยแล้ว) 
             จากการวิเคราะห์ข้อมูล สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ  ผู้ติดเชื้อเอชไอวี /ผู้ป่วยเอดส์ จะอยู่ในเขตเมืองถึงประมาณเกือบร้อยละ 50  ที่เหลือจะกระจายอยู่นอกเขตเมือง  



ผลกระทบ
             กว่า 30 ปีที่ผ่านมา การติดเชื้อเอชไอวีเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมต่อทุกประเทศทั่วโลก  ด้วยขณะนี้โรคเอดส์ยังไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงยาต้านไวรัสที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเชื้อเอชไอวีในร่างกาย และลดการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสเท่านั้น และต้องกินยารักษาไปตลอดชีวิต เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
              จุดอ่อนหรือจุดเปราะบางที่ผ่านมา คือ ประชาชนยังคงมีพฤติกรรมสุขภาพทางเพศเสี่ยงสูงโดยเฉพาะในกลุ่มคู่ผลเลือดต่างในคู่สามีและภรรยา  ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การเปลี่ยนคู่นอนและไม่รู้สถานะของการติดเชื้อเพราะยังไม่ได้ตรวจเลือด  เยาวชนมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นอายุเฉลี่ยการมีเพศสัมพันธ์ลดลง อัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เรื่องโรคเอดส์ยังไม่สม่ำเสมอและทั่วถึง  จึงยังไม่เกิดความตระหนักที่มากเพียงพอ ส่งผลให้ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ลดลงตามเป้าหมายที่กำหนด  อีกทั้งการเข้าถึงถุงยางอนามัยยังไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป

คำแนะนำ

              โรคเอดส์เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเอชไอวี  ช่องทางหลักการติดต่อถ่ายทอดเชื้อนี้มากที่สุดกว่าร้อยละ 84 คือ ทางการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีเชื้อในร่างกายกับบุคคลทั่วไป ทั้งระหว่างชายกับหญิง ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ทั้งโดยทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และการใช้ปากกับอวัยวะเพศคู่นอนที่มีเชื้อเอชไอวี  ที่เหลือมาจากสาเหตุอื่น  เช่น ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน  จากเลือด  จากแม่สู่ลูก  ฯลฯ



               หากมีอาการผิดปกติใดๆ หลังการมีเพศสัมพันธ์ ควรประเมินตัวเองเบื้องต้นด้วยแบบประเมินออนไลน์ที่ที่เว็ปไซต์  https://t.co/X7tf7iww2s  หรือการให้แอพพลิเคชั่น Line เพิ่มเพื่อนแสกนคิวอาร์โค้ด และเปิดทำแบบประเมินตนเองออนไลน์ฯ  ถ้าผลว่าเสี่ยงสูงควรรีบไปรับบริการขอคำปรึกษาจากสถานบริการสาธารณสุข โรงพยาบาลของรัฐ หรือเอกชนเขตเมืองทุกแห่งที่สะดวก



บทสรุปเชิงนโยบาย
1.        ควรมีแผนยุทธศาสตร์เอดส์ในระดับจังหวัด กับเขตเมืองใหญ่ที่เชื่อมโยงกัน และมีส่วนร่วมผูกพันในการปฏิบัติกับองค์กรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สามารถติดตามผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม 
              2.  สำนักงานเทศบาล ควรมอบนโยบาย สนับสนุนการดำเนินงาน และกำกับ ติดตาม กิจกรรมป้องกันโรคเอดส์และเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงในแต่ละสถานประกอบการ และชุมชนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
              3. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในเขตเมือง ควรให้ความร่วมมือแบ่งปันคืนข้อมูลและชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงแยกเป็นรายเขตเทศบาล ประสานให้เกิดแผนที่ทำงาน  ระดมทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรมป้องกัน ที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม  ก่อให้เกิดการประสาน เชื่อมโยงสนับสนุนกันและกัน ของแต่ละภาคส่วน องค์กร เอื้อประโยชน์ในการทำงานระหว่างกัน
              
   

" สวมเสื้อผ้าเพื่อปกป้องร่างกาย สวมถุงยางอนามัยเมื่อเสี่ยงทุกครั้ง หยุดยั้งโรคเอดส์

ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

บทสรุปเชิงนโยบาย ฉบับที่ 1/2560 ตอน ไข้หวัดใหญ่ภัยช่วงฤดูหนาว

ความเป็นมา
          ในแต่ละปีกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 7-9 แสนราย ในจำนวนนี้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ต้องรับไว้โรงพยาบาลเกือบ 76,000 ราย  ในเขตเมืองใหญ่ 5 ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 11 เมือง มีกลุ่มผู้ที่เสี่ยงป่วยรุนแรง ได้แก่หญิงมีครรภ์ เสี่ยงป่วยรุนแรงกว่าคนทั่วไป 4 เท่า ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด หัวใจ ไต เบาหวาน โรคเลือด มะเร็ง เอดส์ ฯลฯ ผู้พิการทางสมอง คนอ้วนมาก (น้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป)  เด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 2 ปี   ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป


ผลกระทบ
           โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อได้ง่าย โดยเชื้อจะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ  เมื่อมีการไอ จามรดกัน การหายใจสูดลมหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในฝอยละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยถูกผู้ป่วยไอจามรด ในระยะ 1 ช่วงแขน การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือมือสัมผัสเชื้อไวรัสแล้วนำมาขยี้ตา จับต้องจมูก  ปาก การจับต้องสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย เช่น โทรศัพท์ แป้นคอมพิวเตอร์ ผ้าเช็ดมือ ลูกบิดประตู  แล้วใช้มือมาแคะจมูก ขยี้ตา จับปาก 



            เชื้อโรคจะไปเจริญอยู่ในลำคอและเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ป่วย หลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มากที่สุดในช่วงป่วย 3 วันแรก  (มีโอกาสแพร่เชื้อได้มากสุด และอาจแพร่ได้นานถึง 7 วัน) ส่งผลให้ หลังได้รับเชื้อ 2-3 วัน (มักไม่เกิน 7 วัน) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง เป็นเวลา 3 - 4 วัน  ปวดศีรษะมาก  หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล คัดจมูก  ไอ จาม  เจ็บคอ เบื่ออาหาร  อ่อนเพลีย  บางคนอาจมีอาเจียน ท้องเสียด้วย


คำแนะนำ
           หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล คือ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง, ไข้สูง ไม่ลดลงภายใน  2 วัน , ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หอบเหนื่อย , ซึม อ่อนเพลียมาก เด็กร้องไห้งอแงมาก, กินอาหารไม่ได้ หรือกินน้อยมาก , อาเจียน ท้องร่วงมาก มีภาวะขาดน้ำ เช่น ผิวแห้ง ริมฝีปากแห้ง ตาโหล ปัสสาวะน้อย , ปลายมือปลายเท้ามีสีม่วงคล้ำ
           ถ้าอาการป่วยไม่รุนแรง คือ ไข้ไม่สูง ไม่อ่อนเพลียมาก พอรับประทานอาหารได้  และนอนหลับพักผ่อนได้  ควรดูแลรักษาตนเองที่บ้าน คือ  รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซทามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน)  และยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร หากติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ต้องรับประทานทานยาปฏิชีวนะให้หมดตามที่แพทย์สั่ง เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำสะอาดอุ่นเล็กน้อยเป็นระยะ  เช็ดแขนขาย้อนเข้าหาลำตัว  เช็ดบริเวณหน้าผาก  ซอกรักแร้  ขาหนีบ  ข้อพับแขนขา  และใช้ผ้าห่มปิดหน้าอกไว้  เพื่อไม่ให้หนาวเย็นจนเสี่ยงเกิดปอดบวม หากผู้ป่วยมีอาการหนาวสั่น ต้องหยุดเช็ดตัวและห่มผ้าให้อบอุ่นทันที   ดื่มน้ำสะอาดและน้ำผลไม้มาก ๆ งดดื่มน้ำเย็นจัด  รับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก และผลไม้ให้พอเพียงทำจิตใจให้สบาย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไป และอากาศถ่ายเทสะดวก อาการจะค่อย ๆ ทุเลา และหายป่วยภายใน 5 ถึง 7 วัน ห้ามออกกำลังกายหรือทำงานหนัก  เพราะอาการอาจทรุดลงได้



บทสรุปเชิงนโยบาย
           หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในเขตเมือง ควรเร่งประชาสัมพันธ์ แจ้งกระตุ้นเตือนในทุกช่องทางการสื่อสาร ให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขอนามัยที่ดี โดยการออกกำลังกาย การรับประทานเนื้อ ไข่ นม ผัก ผลไม้ เช่น ฝรั่ง ซึ่งอุดมด้วยวิตามินซี การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ  และการใช้ช้อนกลาง และ 5 พฤติกรรมป้องกันไข้หวัดใหญ่ ที่แนะนำ คือ
- ปิด..ปิดปากจมูกเมื่อป่วย ไอจาม ใช้กระดาษทิชชู สวมหน้ากากอนามัย  หรือไอใส่ต้นแขนตนเอง   
- ล้าง..ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนรับประทานอาหาร หลังไอจาม สั่งน้ำมูก ดูแลผู้ป่วย ขับถ่าย จับต้องสัตว์  และล้างเช็ดทำความสะอาดสิ่งของ พื้นผิว ที่มีคนสัมผัสมาก
- เลี่ยง..เลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้มีอาการป่วย มีไข้ ไอ จาม เลี่ยงสถานที่คนมาอยู่รวมกันจำนวนมาก (โดยเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาดมาก)
- หยุด..หยุดงาน หยุดเรียน หยุดกิจกรรมกับผู้อื่น เมื่อป่วย เพื่อให้หายป่วยเร็ว และไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น
- ฉีด..ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข



" ล้างมือ  ปิดปาก จมูกเมื่อไอ จาม ฉีดวัคซีนเร็วไว ป้องกันไข้หวัดใหญ่ในเขตเมืองได้

ผู้เรียบเรียง  : เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ