ความเป็นมา
ในแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าปีละกว่า
55,000 ราย กรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่ามีผู้ถูกสุนัขกัดถึงประมาณ
3 - 4 แสนรายต่อปี
เสียชีวิตประมาณ 15 - 20 รายต่อปี จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า
ของกรมควบคุมโรค ช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 22 มี.ค.2561 พบรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จำนวน 6
ราย จาก 6 จังหวัด
ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ช่วงวันที่
1 ม.ค. – 21 มี.ค.2561 พบว่าจากการตรวจตัวอย่างสัตว์จำนวน 3,261 ตัวอย่าง
พบตัวอย่างผลบวกเชื้อพิษสุนัขบ้าจำนวน 444 ตัวอย่าง
คิดเป็นร้อยละ 13.26 ชนิดสัตว์ที่พบเชื้อฯ
มากที่สุดกว่าร้อยละ 91 คือ สุนัข รองลงมาคือ โค และแมว
ในส่วนที่พบผลบวกเชื้อฯ ในสุนัขและแมวพบว่าส่วนใหญ่ ไม่พบการฉีดวัคซีนและไม่ทราบประวัติ
รองลงมาพบว่าเป็นสุนัขจรจัดไม่มีเจ้าของ
ในประเทศไทยแต่ละปีทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณในการควบคุมป้องกันโรคทั้งในคนและสัตว์มากกว่า
1,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมค่าความเสียหายและผลกระทบด้านอื่นๆ
ที่ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก เหตุผลเนื่องมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสุนัข
และแมวยังดำเนินการได้ไม่ถึงร้อยละ 80
ของจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งหมด อีกทั้งยังมีการปล่อยทิ้งสุนัขในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีจำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มมากขึ้น
และประชาชนบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง
ผลกระทบ
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือที่เรียกว่าโรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) จัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies) เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่ทำให้คนและสัตว์ป่วยและเสียชีวิตด้วยความทรมานทุกราย
พาหะนำโรคที่สำคัญ คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด
เช่น สุนัข ประมาณ 95% รองลงมาคือแมว ลิง กระรอก ค้างคาว พังพอน
ฯลฯ
โดยเชื้อไวรัสออกมากับน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ
และเข้าสู่ร่างกายคนทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล บางครั้งพบว่าเชื้อสามารถเข้าทางบาดแผลที่เกิดขึ้นใหม่
ๆ ตามผิวหนัง หรือเข้าเยื่อบุของตา ปาก
จมูก ที่ไม่มีแผล หรือรอยฉีกขาด จากนั้นเชื้อเข้าสู่แขนงประสาท
และระบบประสาทส่วนกลาง แล้วเข้าสู่สมองและเริ่มเพิ่มจำนวนเชื้อ ส่งผลให้ผู้ป่วยจะมีอาการทางประสาท
โดยเฉพาะที่ระบบประสาทส่วนกลาง อาการคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ในระยะ 2-3 วันแรก อาจมีไข้ต่ำ ๆ ต่อไปจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว
ต่อไปจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่อยู่สุข กระวนกระวาย ไม่ชอบแสงสว่าง
ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก แม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ มีอาการกลัวน้ำ มีน้ำลายไหล
เวลากลืนกินน้ำจะสำลักและเจ็บปวดมาก เพราะกล้ามเนื้อคอเป็นอัมพาตและเกร็งของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน
แต่ยังมีสติพูดจารู้เรื่อง
ระยะต่อมาจะเอะอะมากขึ้น
สงบสลับกับชัก มีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย อาละวาด เมื่อเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังเชื้อจะเพิ่มจำนวนมากทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ
ถ้าเชื้อเดินทางมาถึงสมองแล้วภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนก็จะป้องกันไม่ได้ และสุดท้ายบางรายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต
หมดสติ และจะเสียชีวิตทุกราย เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด โดยเฉลี่ยจะเสียชีวิตใน
2-6 วัน
ในช่วงฤดูร้อนต้นปี 2561 นี้พบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าหลายพื้นที่
ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม
เด็กที่เล่นหรือใกล้ชิดกับสัตว์มีโอกาสสัมผัสและรับเชื้อเข้าร่างกายได้
คำแนะนำประชาชน
วิธีการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุด คือ ผู้เลี้ยงสุนัขหรือแมว
ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งแรกเมื่อมีอายุ 2 - 4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี
นอกจากนี้ผู้ปกครองควรระมัดระวังเด็กในการเล่นกับสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเล่นใกล้ชิดเกินไป
ไม่แหย่หรือรบกวนสุนัข หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ หากพบสุนัข
แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตาย หรือมีอาการ
สังเกตอาการทั่วไปของสัตว์เลี้ยง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ซึม ไม่กินอาหาร
อาเจียน อัมพาต ขาอ่อนแรง
หรือคลุ้มคลั่งมีอาการดุร้าย ให้แจ้งไปที่เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน หรือ
อสม.ในพื้นที่
ในส่วนประชาชนหากเลี้ยงสัตว์ที่ดุร้ายควรกักขัง
หรือใส่ตะกร้อปาก หรือผูกล่ามในสถานที่เหมาะสมห่างจากผู้พักพิงอื่น ๆ โดยเฉพาะเด็ก
และเด็กเล็ก ระวังบุตรหลานในการเล่นกับสุนัขหรือแมว ให้อาหารสัตว์ตามความเหมาะสม
ไม่ให้สัตว์มีความหิวเพราะสัตว์จะมีอารมณ์หงุดหงิดได้ การให้อาหารสุนัขที่อยู่รวมกันหลายตัว
อย่าวางอาหารใกล้ชิดกับสุนัขเกินไป เพราะสุนัขจะกรูเข้าแย่งอาหารและกัดกัน
ซึ่งจะพลาดถูกกัด แล้ว
ข้อปฏิบัติ หากถูกสุนัข แมว กัดหรือข่วน ให้รีบปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1.
รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ
ครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดการติดเชื้อ เพราะจะทำให้เชื้อโรคต่างๆ
ที่บริเวณนั้นหลุดออกจากแผลไปตามน้ำ จากนั้นเช้ดแผลให้แห้ง และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น
โพวิโดนไอโอดีน หรือ ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือยาฆ่าเชื้ออื่นๆ
2.
ต้องจดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด
หากเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของควรขอประวัติการฉีดยาของสุนัข หรือแมว
หากไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบที่มาของสัตว์ ควรแยกสัตว์ไว้สังเกตอาการ 10 วัน หรือแม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านก็ตาม
3.
รีบพาผู้ประสบเหตุไปสถานบริการสาธารณสุขเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที
และควรติดตามดูอาการสุนัขหรือแมวนั้น 10 วัน
หากยังปกติอยู่รีบแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อหยุดฉีดวัคซีนได้
บทสรุปเพื่ออนาคต
องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ
และองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้ทุกประเทศกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี
พ.ศ.2563 ดังนั้นจึงควรส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เทศบัญญัติ ส่งเสริมการใช้กฎหมายเพื่อให้ประชาชนในชุมชนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า
ระดมทรัพยากรในการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ให้สุนัข แมว ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครอบคลุมจำนวนประชากรสัตว์ทั้งหมดมากที่สุดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เสี่ยง
หรือในที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน ตลาดแหล่งชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว
สถานที่ราชการ ควบคุมและลดจำนวนประชากรสุนัข
แมว มีและไม่มีเจ้าของ
ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน
เกิดความร่วมมือประสานงานกัน เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในชุมชนให้ความสำคัญในการเลี้ยงและดูแลสุนัขและแมว
อย่างถูกวิธีและเห็นความสำคัญในการนำสุนัขและแมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครอบคลุมในเวลาเดียวกัน
และร่วมกันลดปัญหาการเพิ่มจำนวนของสุนัขจรจัด
“ ถูกกัดต้องล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดต่อจนครบ
ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า “
เรียบเรียงโดย เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ
ข้อมูลสถิติที่มา : 1. กรมควบคุมโรค , สืบค้นเมื่อ 26 มี.ค.2561
2. กรมปศุสัตว์ , สืบค้นเมื่อ 26 มี.ค.2561
2. องค์การอนามัยโลก (WHO) , สืบค้นเมื่อ 26 มี.ค.2561