ความเป็นมา
เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวของทุกปี ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอุณหภูมิเย็นลง
เป็นสาเหตุการเกิดโรคได้หลายชนิด
เพราะเชื้อโรคจะมีชีวิตได้นานขึ้น และมีการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วขึ้น
หนึ่งในโรคดังกล่าวที่สำคัญมาก คือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในเด็ก (Acute diarrhea in children)
เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและการตายในเด็กทั่วโลกจำนวนมาก จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
พบรายงานผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงตลอดปี 2560 ในประเทศไทย
ที่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 2.27 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 23 ของผู้ป่วยรวมทั้งหมด (9.85
แสนราย) และมีเด็กเสียชีวิตจำนวน 3 ราย และจำนวนผู้ป่วยที่เป็นเด็กจะพุ่งขึ้นสูงช่วงเดือนมกราคม
ถึง กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถึงประมาณเกือบ 25,000 รายต่อเดือนทีเดียว
ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า
ประมาณร้อยละ 43
ในประเทศไทยพบว่าเด็กอายุ 1 ขวบเป็นโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าร้อยละ
60 และเด็กอายุ 2 ขวบเป็นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าถึงร้อยละ
80-90 โดยมีเด็กป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงที่เข้ารับการรักษาในคลินิก ประมาณ 131,000
รายต่อปี เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 56,000 รายต่อปี
อัตราป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่อัตราการเสียชีวิตลดลงเนื่องการดูแลรักษาที่ดีขึ้น
ผลกระทบ
ประชาชนส่วนมากมักเข้าใจว่าโรคอุจจาระร่วงเกิดขึ้นเฉพาะช่วงฤดูร้อน
ซึ่งถูกเพียงบางส่วน เพราะความจริงแล้วช่วงที่อากาศหนาวเย็น
ก็เกิดโรคอุจจาระร่วงได้เช่นกัน โดยปกติแล้วเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี จะมีอัตราการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉลี่ยราว 3 ครั้งต่อปี
แต่โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในเด็ก มักจะพบได้มากในช่วงปลายฤดูฝน ต่อเนื่องจนถึงปลายฤดูหนาว
คือ เดือน ตุลาคม ของปีก่อนหน้าถึง เดือน กุมภาพันธ์ ของปีนั้นๆ พบว่าโรคนี้มักเกิดกับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ หรือกำลังจะเลิกนมแม่ รวมทั้งเด็กที่ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่แม่เลี้ยง และพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง
เด็กเล็กกำลังเป็นวัยเรียนรู้
ชอบหยิบสิ่งของเข้าปาก โรคนี้จึงเกิดจากการรับเชื้อโรคเข้าทางปาก โดยเชื้อจะปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม
น้ำใช้ และติดต่อกันได้ทางน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย
หรือการสัมผัสกับเครื่องใช้ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว
เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ประตู หรือที่อื่นๆ ที่มองไม่เห็นเชื้อโรคด้วยตาเปล่า ของเล่นต่างๆ
ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เมื่อเด็กจับแล้วนำมือเข้าปากก็ติดเชื้อได้ จึงยากที่จะระวัง
เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญตัวหนึ่ง คือ ไวรัสโรต้า (Rota virus) หรือที่เรียกว่า ไวรัสลงลำไส้ ซึ่งเชื้อโรคนี้ค่อนข้างทนและมีชีวิตอยู่ได้นานหลายวัน เป็นโรคที่ติดต่อง่ายมากแต่ป้องกันได้ยาก ทารกอายุ 3-4 เดือน ก็สามารถติดเชื้อได้ เด็กแทบทุกคนช่วง อายุ 2-3 ขวบ จะเคยเป็นโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้ามาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โรคนี้จึงพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี (ช่วงระยะหลังตรวจพบเชื้อในผู้ใหญ่ด้วย)
ในเด็กที่กินนมผสมให้กินตามปกติ
แต่ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งต่อมื้อ โดยให้ดื่มสลับกับน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอสครึ่งหนึ่ง
อาการเด็กจะค่อยๆ ดีขึ้นเป็นปกติได้ภายใน 8-12
ชั่วโมง แต่หากเด็กอาการรุนแรงถ่ายเหลวไม่หยุด
มีการซึมลง ไม่มีแรง มือเท้าเย็น ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม
ปัสสาวะวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลยมากกว่า 6 ชั่วโมง ปากแห้งมาก ตาโหล ร้องให้ไม่มีน้ำตา ในเด็กเล็กจะมีกระหม่อมบุ๋ม เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียาหรือการรักษาโดยเฉพาะ
จึงจำเป็นต้องพาเด็กไปนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
โรคติดเชื้อชนิดนี้ ภายหลังการรักษาอย่างทันท่วงทีแล้ว
ส่วนใหญ่แล้วเด็กจะดีขึ้นภายในเวลา 3 - 5 วัน ไข้จะลดลง อาเจียนลดลง ลักษณะอุจจาระจะค่อยๆ มีเนื้อเพิ่มมากขึ้น
โดยปกติแล้วไม่เกิน 7 วัน เด็กมักจะหาย นอกเสียจากมีภาวะอื่นๆ แทรกซ้อนเช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรง หรือภาวะขาดน้ำที่รุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะช็อก และหากรักษาไม่ทันอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็กอ่อน
ในปัจจุบันมีการให้วัคซีนโรต้าในเด็กมากขึ้นในโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชน
จึงทำให้พบการติดเชื้อโรต้าไวรัสลดลงกว่าแต่ก่อน แต่กลับพบรายงานเกิดไวรัสชนิดอื่นๆ
ที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็กในลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้น
เช่น เอนเทอโรไวรัส, โนโรไวรัส, แอสโตรไวรัส
บทสรุปคำแนะนำ
ในเขตเมืองที่มีเด็กอยู่อาศัยอยู่ทุกชุมชน และมีโรงเรียนที่มีเด็กเล็กมาอยู่รวมกันจำนวนมาก หน่วยงานสาธารณสุข ท้องถิ่น โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก
ควรดำเนินการเชิงรุก กระตุ้นเตือนวิธีการป้องกันเด็กทารกและลูกหลานจากเชื้อไวรัสโรต้า
วิธีการที่สำคัญคือ
ในแม่หลังคลอดในชุมชนเมือง ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สม่ำเสมออย่างน้อย
6 เดือน เด็กเล็กจะได้รับภูมิต้านทานโรคนี้จากแม่ ควบคู่กับให้เด็กกินอาหารเหลวบ่อยๆ
เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด เด็กจะไม่ป่วยง่าย ส่วนการป้องกันในเด็กโรงเรียนอนุบาล หรือศูนย์เด็กเล็ก
ครูและผู้ปกครอง ต้องเคร่งครัดการสร้างสุขอนามัยที่ดี การรักษาความสะอาด หมั่นล้างมือให้เด็กด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
ทำความสะอาดของเล่นบ่อยๆ เตรียมอาหารเด็กให้สุกด้วยความร้อน ดื่มน้ำที่ต้มสุกทำลายเชื้อโรคแล้ว
และหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด แต่หากผู้ปกครองพิจารณาว่าวิธีการเหล่านี้ยังปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
อาจพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ก็จะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคนี้ได้
การป้องกันโรคในประชาชนทั่วไป
ให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนใหม่ๆ เสมอ
หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล และล้างผักสด ผลไม้
ให้มั่นใจว่าสะอาดก่อนรับประทาน รวมทั้งภาชนะที่ใส่อาหารกินและดื่มต้องสะอาด
เก็บไว้ในที่มิดชิด
ไม่ให้แมลงหรือสัตวืเลื้อยคลานไต่ตอม ใช้ช้อนกลางตักอาหาร ล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากใช้ห้องน้ำ ถังขยะควรมีฝาปิด กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงพาหะนำโรค
“โรคอุจาระร่วงเฉียบพลันในเด็กเขตเมืองใหญ่ ป้องกันได้ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือสะอาดบ่อยๆ”
เรียบเรียงโดย เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ
ข้อมูลสถิติที่มา : สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค , สืบค้นเมื่อ 10 ม.ค.61
ข้อมูลสถิติที่มา : สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค , สืบค้นเมื่อ 10 ม.ค.61