วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

บทความวิชาการ ตอน ฝนมา อากาศเปลี่ยน คนเมืองเสี่ยงป่วยง่าย 5 กลุ่มโรค ควรปฏิบัติตัวอย่างไรดี ?



                      ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน  สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและมักมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นช่วง ๆ อาจทำให้เกิดภาวะน้ำขังหรือถึงกับท่วมฉับพลันได้ตามจังหวัดต่างๆ จากสภาพดินฟ้าอากาศเช่นนี้ หากประชาชนดูแลรักษาอนามัยไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้อ่อนแอ อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว




ผลกระทบ

       โรคที่จะเกิดในฤดูฝน สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มโรค ดังนี้ 
1) โรคที่เกิดจากแมลงพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก  โรคมาลาเรีย  โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี
2) โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ ที่ขึ้นเองในป่า สวน ไร่ หรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือพืชที่มีพิษต่างๆ เช่น ผักหวานพิษ  ที่มักมีรายงานผู้ป่วยและเสียชีวิตเป็นประจำทุกปีช่วงหน้าฝน
3) โรคติดต่อทางเดินหายใจและการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ที่พบบ่อย เช่น โรคหวัดหวัดใหญ่  โรคคออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม โรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก
4) โรคที่เกิดจากการสัมผัสเชื้อจากสิ่งแวดล้อมและสัตว์พาหะ เช่น โรคเลปโตสไปโรซิส  หรือโรคไข้ฉี่หนู ที่เชื้อปะปนอยู่ในน้ำและสิ่งแวดล้อม ดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก ที่ชื่นแฉะมีน้ำท่วมขัง
5) โรคหรือภัยที่มักเกิดร่วมกับภาวะอุทกภัย เช่น  โรคทางอาหารโดยเฉพาะในช่วงที่มีน้ำท่วม ได้แก่ โรคท้องเดินหรือโรคอุจาระร่วง โรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ เป็นต้น  โรคตาแดง ที่ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิด ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน หรือจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาด  โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากเชื้อรา ที่ต้องลุยอยู่ในน้ำสกปรกนาน ๆ  อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านช่วงที่มีน้ำท่วม  อันตรายจากการจมน้ำ และไฟฟ้าดูดขณะร่างกายเปียกน้ำ




คำแนะนำประชาชน และบทสรุปเพื่ออนาคต

     วิธีการป้องกันโรคดังกล่าวข้างต้น ดังนี้
1) อย่าให้ถูกยุงกัด โดยการ เก็บ ฝัง ทำลาย หรือปิดให้มิดชิด พร้อมกันทุกบ้าน ทุก 7 วัน ตัดจงจรการขยายพันธุ์ยุง
2) ถ้าเดินทางไปพักค้างแรมในป่า ต้องป้องกันตนเองให้ถูกยุงกัด เมื่อมีอาการไข้ภายหลังจากไปป่า บอกประวัติให้สถานพยาบาลทราบ เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรียโดยเร็วที่สุด
3) รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เช่น การออกกำลังกายพอเหมาะ เพื่อให้ร่างกายมีความต้านทานโรค 
4) หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ หากมีไข้ไม่สูง หรือรู้สึกไม่สบาย ควรเช็คตัวลดไข้เป็นระยะ รับประทานยาลดไข้ และหากภายใน 2 วัน ไข้ไม่ลดหรืออาหารทรุดลงให้รีบพาผู้ป่วยไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน 
5) รับการฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือตามประกาศของทางราชการ
6) สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล หมั่นดูแลสุขอนามัยของสถานที่ และอุปกรณ์ให้สะอาดอยู่เสมอ
7) รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำที่สะอาดทุกครั้ง  เช่น น้ำที่ต้มสุกแล้ว  หรือน้ำบรรจุขวดที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ และไม่ควรรับประทานน้ำแข็งที่ใช้แช่อาหารอื่น 
8) ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง   
9) อย่าใช้มือ แขน หรือ ผ้าที่สกปรกขยี้ตา หรือเช็ดตา และรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งที่ถูกน้ำสกปรก
12) หากเจ็บป่วย หรือ มีบาดแผล ให้รีบไปตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ตั้งแต่เริ่ม ก่อนที่อาการจะลุกลามและเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น
13) ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการถูกของมีคมและสัตว์มีพิษกัดต่อย  โดยการจัดและดูและบ้านเรือนให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษหรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงพาหะได้

กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือสะอาด สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม  ป้องกันโรคจากฤดูฝนได้


ผู้เรียบเรียง...เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ




วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

บทความวิชาการ ตอน โรคอาหารเป็นพิษและทางเดินอาหารช่วงฤดูร้อน โรคใกล้ตัวคนเมือง ควรป้องกันอย่างไรดี ?

ความเป็นมา
        เนื่องจากขณะนี้เป็นระยะเวลาที่เข้าสู่ฤดูร้อน  ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือน มีนาคม – พฤษภาคม ของทุกปี เป็นช่วงที่อากาศในประเทศไทยมีอุณหภูมิที่ร้อนมาก ซึ่งจากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งนี้ เหมาะแก่การเจริญเติบโตและแพร่ระบาดของเชื้อโรคหลายชนิด อาจจะเกิดการระบาดของโรคติดต่อต่างๆ ได้ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง บิด อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ
        นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่างๆ หลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่มักจะเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ หรือกลับภูมิลำเนา และมีงานเลี้ยงฉลอง มีการรับประทานอาหารรวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก สิ่งที่พบบ่อยๆ ตามมา คือ การเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรค อาหารไม่สะอาด อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่เตรียมไว้ล่วงหน้าจำนวนมาก

   
ผลกระทบ
      โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)  เป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ กลุ่มอายุที่พบการป่วยโรคอาหารเป็นพิษ มากลำดับแรก คืออายุช่วง 15 – 24 ปี อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและนักเรียน เป็นอาการที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และไข่เป็ด ไข่ไก่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ ถ้าไม่ได้อุ่นให้ร้อนพอก่อนรับประทาน ก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้ นอกจากนี้อาหารเป็นพิษในบางรายเกิดจากสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อโรค พืชที่มีพิษ หรือสารเคมี เช่น สารตะกั่ว ยาฆ่าแมลง เห็ดพิษ สารหนู หรือสารปรอท ฯลฯ
      อาการของโรคอาหารเป็นพิษ  ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของเชื้อที่ร่างกายได้รับเข้าไป หรืออาจมีอาการหลังรับประทานอาหารไม่กี่ชั่วโมงหรือนานเป็นสัปดาห์หากได้รับเชื้อรุนแรง โดยจะรู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียนติดต่อกันหลายครั้งหรืออาเจียนเป็นเลือด มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพัก ๆ เนื่องจากบีบตัวของลำไส้ ถ่ายท้อง ถ่ายมีมูกหรือเลือดปน  สูญเสียน้ำ เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หมดเรี่ยวแรง ปากแห้ง ตาโบ๋ กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย  ไม่มีความอยากอาหาร ด้านระบบประสาท เช่น มองไม่ชัด แขนเป็นเหน็บ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรครุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการต่อเนื่องนานหลายวัน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็กทารกหรือเด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ ควรรีบพาไปสถานบริการสาธารณสุขโดยด่วน


คำแนะนำประชาชน
         โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่มักอาการไม่ร้ายแรง หากประชาชนดูแลรักษาสุขภาพอนามัยไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ได้ ประชาชนควรระมัดระวังและป้องกันโรคดังนี้

    1ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร รับประทานอาหาร หรือก่อนเตรียมนมให้เด็ก และภายหลังจากการเข้าห้องน้ำหรือห้องส้วมทุกครั้ง

    2ดื่มน้ำที่สะอาด หรือน้ำต้มสุก และรับประทานอาหารที่สะอาด และสุกใหม่ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม  หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็น  และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง
    3การกำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร และสิ่งปฏิกูลรอบๆ บริเวณบ้านทุกวัน เพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค 
    4ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้งเพื่อไม่ให้แพร่โรคจากผู้ป่วยได้   


บทสรุปเพื่ออนาคต

       องค์กรและภาคส่วนต่างๆ ควรตระหนักถึงการร่วมมือกันป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง เพราะอาหารที่เรารับประทานสามารถถูกปนเปื้อนได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว เตรียมอาหาร ปรุงอาหาร การจำหน่าย ตลอดจนถึงการบริโภค การรักษาความสะอาดจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ปลอดภัยจากโรค ดังนี้

       1. การดูแลพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคล หลังสัมผัสสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคจากสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น จับราวบันได กดปุ่มกดลิฟต์ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคต่างๆ ฯลฯ ควรล้างมือก่อนและหลังรับประทานให้เป็นนิสัย เพื่อช่วยป้องกันการกระจายของเชื้อโรค


       2. การบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ โดยเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ หรือผ่านความร้อน ซึ่งช่วยฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร  หากรับประทานอาหารไม่หมด และบูดเสียง่าย เช่น แกงกะทิ อาหารทะเล อาหารสด ฯลฯ ควรนำอาหารเก็บเข้าตู้เย็น ไม่ควรวางอาหารทิ้งไว้ในอุณภูมิห้อง เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ เมื่อต้องการรับประทานอีกครั้งให้นำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน หากต้องรับประทานอาหารนอกบ้านควรเลือกร้านอาหารที่สะอาด ผู้ประกอบอาหารแต่งตัวและสถานที่ถูกสุขลักษณะ
      3. การจัดเก็บและเตรียมอาหารให้ปลอดภัย ควรคำนึงถึงการดูแลรักษาความสะอาดบริเวณที่มีการเตรียมอาหาร ปรุงอาหาร หรือเก็บอาหารให้ถูกสุขลักษณะอนามัย เช่น การแยกเก็บเนื้อสัตว์สดจากอาหารชนิดอื่น หรือการล้างผักและผลไม้ ควรล้างให้สะอาด ปราศจากสิ่งสกปรก ยาฆ่าแมลง สารเคมี หรือสารตกค้างต่าง ๆ หากต้องเดินทางไกลควรบรรจุอาหารในกล่องโฟมที่มีน้ำแข็ง กระเป๋าเก็บความเย็น หรือใช้เจลเก็บความเย็น

ใส่ใจอาหาร กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือสะอาด ปราศจากจากโรคอาหารเป็นพิษและอุจาระร่วง

เรียบเรียงโดย...เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ






วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561

บทความทางวิชาการ ตอน โรคพิษสุนัขบ้าเมืองใหญ่ เตือนภัยดูแลบุตรหลาน


ความเป็นมา
      ในแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าปีละกว่า 55,000 ราย  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  คาดการณ์ว่ามีผู้ถูกสุนัขกัดถึงประมาณ 3 - 4 แสนรายต่อปี  เสียชีวิตประมาณ 15 - 20 รายต่อปี   จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ของกรมควบคุมโรค ช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 22 มี.ค.2561 พบรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จำนวน 6 ราย จาก 6 จังหวัด
       ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 21 มี.ค.2561 พบว่าจากการตรวจตัวอย่างสัตว์จำนวน 3,261 ตัวอย่าง พบตัวอย่างผลบวกเชื้อพิษสุนัขบ้าจำนวน 444 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 13.26 ชนิดสัตว์ที่พบเชื้อฯ มากที่สุดกว่าร้อยละ 91 คือ สุนัข รองลงมาคือ โค และแมว ในส่วนที่พบผลบวกเชื้อฯ ในสุนัขและแมวพบว่าส่วนใหญ่ ไม่พบการฉีดวัคซีนและไม่ทราบประวัติ  รองลงมาพบว่าเป็นสุนัขจรจัดไม่มีเจ้าของ      


       ในประเทศไทยแต่ละปีทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณในการควบคุมป้องกันโรคทั้งในคนและสัตว์มากกว่า 1,000 ล้านบาท   ยังไม่นับรวมค่าความเสียหายและผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก  เหตุผลเนื่องมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสุนัข และแมวยังดำเนินการได้ไม่ถึงร้อยละ 80 ของจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งหมด  อีกทั้งยังมีการปล่อยทิ้งสุนัขในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีจำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มมากขึ้น และประชาชนบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
       หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง 


ผลกระทบ
          โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือที่เรียกว่าโรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) จัดเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์  (Rabies)  เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่ทำให้คนและสัตว์ป่วยและเสียชีวิตด้วยความทรมานทุกราย  พาหะนำโรคที่สำคัญ คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข ประมาณ 95% รองลงมาคือแมว ลิง กระรอก ค้างคาว พังพอน ฯลฯ
           โดยเชื้อไวรัสออกมากับน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ และเข้าสู่ร่างกายคนทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล บางครั้งพบว่าเชื้อสามารถเข้าทางบาดแผลที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ตามผิวหนัง หรือเข้าเยื่อบุของตา  ปาก  จมูก  ที่ไม่มีแผล หรือรอยฉีกขาด จากนั้นเชื้อเข้าสู่แขนงประสาท และระบบประสาทส่วนกลาง  แล้วเข้าสู่สมองและเริ่มเพิ่มจำนวนเชื้อ  ส่งผลให้ผู้ป่วยจะมีอาการทางประสาท โดยเฉพาะที่ระบบประสาทส่วนกลาง อาการคนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ในระยะ 2-3 วันแรก อาจมีไข้ต่ำ ๆ ต่อไปจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อไปจะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่อยู่สุข กระวนกระวาย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก แม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ มีอาการกลัวน้ำ มีน้ำลายไหล เวลากลืนกินน้ำจะสำลักและเจ็บปวดมาก เพราะกล้ามเนื้อคอเป็นอัมพาตและเกร็งของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน แต่ยังมีสติพูดจารู้เรื่อง
            ระยะต่อมาจะเอะอะมากขึ้น สงบสลับกับชัก มีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย อาละวาด เมื่อเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังเชื้อจะเพิ่มจำนวนมากทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ ถ้าเชื้อเดินทางมาถึงสมองแล้วภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนก็จะป้องกันไม่ได้  และสุดท้ายบางรายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต หมดสติ และจะเสียชีวิตทุกราย เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด โดยเฉลี่ยจะเสียชีวิตใน 2-6 วัน
     ในช่วงฤดูร้อนต้นปี 2561 นี้พบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าหลายพื้นที่ ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม เด็กที่เล่นหรือใกล้ชิดกับสัตว์มีโอกาสสัมผัสและรับเชื้อเข้าร่างกายได้ 


คำแนะนำประชาชน
วิธีการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุด คือ ผู้เลี้ยงสุนัขหรือแมว ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งแรกเมื่อมีอายุ 2 - 4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี  นอกจากนี้ผู้ปกครองควรระมัดระวังเด็กในการเล่นกับสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเล่นใกล้ชิดเกินไป ไม่แหย่หรือรบกวนสุนัข หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ หากพบสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตาย หรือมีอาการ  สังเกตอาการทั่วไปของสัตว์เลี้ยง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ซึม ไม่กินอาหาร อาเจียน  อัมพาต ขาอ่อนแรง หรือคลุ้มคลั่งมีอาการดุร้าย ให้แจ้งไปที่เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน หรือ อสม.ในพื้นที่
          ในส่วนประชาชนหากเลี้ยงสัตว์ที่ดุร้ายควรกักขัง หรือใส่ตะกร้อปาก หรือผูกล่ามในสถานที่เหมาะสมห่างจากผู้พักพิงอื่น ๆ โดยเฉพาะเด็ก และเด็กเล็ก ระวังบุตรหลานในการเล่นกับสุนัขหรือแมว  ให้อาหารสัตว์ตามความเหมาะสม ไม่ให้สัตว์มีความหิวเพราะสัตว์จะมีอารมณ์หงุดหงิดได้ การให้อาหารสุนัขที่อยู่รวมกันหลายตัว อย่าวางอาหารใกล้ชิดกับสุนัขเกินไป เพราะสุนัขจะกรูเข้าแย่งอาหารและกัดกัน ซึ่งจะพลาดถูกกัด  แล้ว
          ข้อปฏิบัติ หากถูกสุนัข แมว กัดหรือข่วน ให้รีบปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1.    รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดการติดเชื้อ เพราะจะทำให้เชื้อโรคต่างๆ ที่บริเวณนั้นหลุดออกจากแผลไปตามน้ำ จากนั้นเช้ดแผลให้แห้ง และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน หรือ ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือยาฆ่าเชื้ออื่นๆ
2.    ต้องจดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด หากเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของควรขอประวัติการฉีดยาของสุนัข หรือแมว หากไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบที่มาของสัตว์ ควรแยกสัตว์ไว้สังเกตอาการ 10 วัน หรือแม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านก็ตาม
3.    รีบพาผู้ประสบเหตุไปสถานบริการสาธารณสุขเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที และควรติดตามดูอาการสุนัขหรือแมวนั้น 10  วัน  หากยังปกติอยู่รีบแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อหยุดฉีดวัคซีนได้ 



บทสรุปเพื่ออนาคต
องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ และองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้ทุกประเทศกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ.2563 ดังนั้นจึงควรส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เทศบัญญัติ ส่งเสริมการใช้กฎหมายเพื่อให้ประชาชนในชุมชนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ระดมทรัพยากรในการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า  ให้สุนัข แมว ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครอบคลุมจำนวนประชากรสัตว์ทั้งหมดมากที่สุดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เสี่ยง หรือในที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน ตลาดแหล่งชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ราชการ  ควบคุมและลดจำนวนประชากรสุนัข แมว มีและไม่มีเจ้าของ   


ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน  เกิดความร่วมมือประสานงานกัน เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในชุมชนให้ความสำคัญในการเลี้ยงและดูแลสุนัขและแมว อย่างถูกวิธีและเห็นความสำคัญในการนำสุนัขและแมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครอบคลุมในเวลาเดียวกัน และร่วมกันลดปัญหาการเพิ่มจำนวนของสุนัขจรจัด    
          
ถูกกัดต้องล้างแผล  ใส่ยา  กักหมา  หาหมอ ฉีดต่อจนครบ ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า



เรียบเรียงโดย  เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ  
ข้อมูลสถิติที่มา : 1. กรมควบคุมโรค  , สืบค้นเมื่อ 26 มี.ค.2561
                         2. กรมปศุสัตว์   , สืบค้นเมื่อ 26 มี.ค.2561
                         2. 
องค์การอนามัยโลก (WHO) , สืบค้นเมื่อ 26 มี.ค.2561

วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

บทความทางวิชาการ ตอน กังวลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเมืองใหญ่ จะทำอย่างไรดี?


ความเป็นมา

   ปี 2559 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าทั่วโลกในแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เฉลี่ยวันละ 1 ล้านคน หรือปีละ 357 ล้านคน  สำหรับประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค รายงานว่าในช่วงปี 2555 - 2560 มีอัตราป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คิดเป็น 28.9 ต่อแสนประชากร  กลุ่มเยาวชนอายุ 15 - 24 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง (143.44 ต่อประชากรแสนคน) กว่าทุกช่วงอายุ 


โดยจำแนกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เรียงตามลำดับจำนวนผู้ป่วยมากไปหาน้อย 3 โรค คือ โรคหนองใน โรคซิฟิลิส โรคแผลริมอ่อน  โดยผลสำรวจพบอัตราการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดกับแฟนหรือคนรัก ในกลุ่มนักเรียนชั้น ม.5 ลดลง แต่กลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษา (ปวช. 2) เพิ่มขึ้น


         รายงานประจำปี 2558 กลุ่มระบาดวิทยาฯ สคร.2 พิษณุโลก พบว่าในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง มีผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำนวน  890 ราย คิดเป็น 25.4 ต่อแสนประชากร  เป็นเพศชาย 683 ราย เพศหญิง 207 รายอัตราส่วนชายต่อหญิง 3.3 : 1 ช่วงอายุป่วยสูงสุดคือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 25-34 ปี ตามลำดับ      
    ในเขต 5 จังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง มีสัดส่วนผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเขตเมืองใหญ่มากกว่าประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยรวมทั้งจังหวัด จึงยังมีประชาชนในเขตเมืองใหญ่อีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงบริการในการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อรับทราบสถานะความเจ็บป่วยของตนเอง          


ผลกระทบ
       โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infections : STI) มี 5 โรคหลัก ได้แก่ ซิฟิลิส หนองใน กามโรคของต่อมและต่อมน้ำเหลือง หนองในเทียม และแผลริมอ่อน ส่วนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้แก่ เริมที่อวัยวะเพศและทวารหนัก หูดอวัยวะเพศและ ทวารหนัก พยาธิช่องคลอด  โรคนี้เกิดจากการติดต่อผ่านทางการเพศสัมพันธ์ ทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก กับผู้ที่เป็นโรคหรือผู้ติดเชื้อ โดยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์


        บางช่วงของปีเป็นช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความรักที่อบอวลไปด้วยความสุขในการแสดงถึงความห่วงใยถึงคนที่เรารักหรือปรารถนาดี คู่รักวัยรุ่นบางส่วนอาจจะแสดงออกโดยการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งโดยทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งหากมิได้ป้องกันก็มีโอกาสรับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ได้ ทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรค การติดเชื้อโรคนี้ในเพศหญิงส่วนใหญ่มักไม่ปรากฏอาการ  แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อให้กับคู่นอนได้ รวมทั้งอาจมีการท้องไม่พร้อม และผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย       
        ในปัจจุบันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ แนวโน้มอัตราป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีได้  เพราะผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวี จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย มากกว่าคนทั่วไป 5-9 เท่า  ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์เป็นโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างมาก การดูแลรักษา และการป้องกันควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดการแพร่กระจาย เชื้อเอชไอวีได้อีกทางหนึ่ง         
  
 
นวัตกรรมความสำเร็จ
        ปัจจุบันเข้าสู่ยุคสังคมดิจิตอล 4.0 ดังนั้น สคร.2 พิษณุโลก จึงได้พัฒนา “ระบบตรวจสุขภาพทางเพศออนไลน์ด้วยตนเอง” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงบริการเชิงรุกการคัดกรองความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้น  
         โดยเพียงใช้โทรศัพท์มือถือ Smartphone ระบบ Android หรือ IOS เปิด Application LINE จากนั้นไปเมนูเพิ่มเพื่อน แล้วแสกนภาพคิวอาร์โค๊ด (ตามภาพ) หรือจะไปโดยตรงที่ลิ้ง https://t.co/X7tf7iww2s จะสามารถเข้าสู่ระบบได้ด้วยตนเองทันที จากนั้นตอบแบบประเมินออนไลน์ จำนวน 15 ข้อคำถามทางพฤติกรรม ใช้เวลาทำประมาณ  2 ถึง 5 นาที เมื่อให้ข้อมูลครบทุกข้อแล้ว ระบบจะแสดงผลเป็นตัวเลขร้อยละทันที และจัดระดับว่าผู้ประเมินตนเองนั้นมีความเสี่ยงน้อย เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงมาก หรือเสี่ยงมากที่สุด 
            ถ้าผลออกมาว่าเสี่ยงมาก และมากที่สุด จะมีคำแนะนำอัตโนมัติ ถึงสถานที่ตรวจสุขภาพทางเพศแบบปกปิด เพื่อยันยันให้แน่ชัดทางวิทยาศาสตร์อีกครั้ง พร้อมมีคำแนะนำที่ถูกต้องด้านสุขภาพทางเพศ โดยผู้ตอบแบบประเมินออนไลน์นี้จะไม่รู้สึกกระดากอายต่อผู้อื่น  เนื่องจากไม่ต้องเปิดเผยความลับของตน สามารถให้ข้อมูลตามจริงได้มากที่สุด เปิดโอกาสให้รับทราบสถานะความเสี่ยงทางสุขภาพทางเพศของตนเองได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย  ส่งผลให้มีความตระหนักในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรค ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  รู้วิธีการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยตนเองได้อย่างถูกต้อง  


บทสรุปเพื่ออนาคต
           เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย  หมายถึง เมื่อคู่รักตกลงปลงใจที่จะมีเพศสัมพันธ์กัน ก็ควรเป็นเพศสัมพันธ์ที่อยู่บนความรับผิดชอบต่อกันและกัน ต่อสังคม และเป็นเพศสัมพันธ์ที่ต้องปลอดภัยเสมอ   ถุงยางอนามัย คือ อุปกรณ์ในการป้องกันโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันมีทั้งถุงยางอนามัยสำหรับชาย และสำหรับหญิง สามารถป้องกันติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี และป้องกันการตั้งครรภ์ได้ นับเป็นวิธีการป้องกันที่นิยมและได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่ง  ทุกคนจึงควรต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่มีความเสี่ยง และทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก หรือทางปาก  


            ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำต่อบุตรหลานที่อยู่ในวัยเยาวชนอย่างสม่ำเสมอ
  ว่าการแสดงความรักต่อกันเป็นสิ่งที่ดี เป็นความงดงาม แต่จะต้องมีความรับผิดชอบ อีกทั้งการแสดงความรักนั้น สามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ โดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์กันก็ได้ เช่น การให้สิ่งของต่อกัน ดอกไม้ การ์ดหรือคำอวยพร และที่สำคัญที่สุดอย่าให้ความรักที่มีต่อแฟนหรือคู่รัก มีอิทธิพลเหนือความรักและความหวังดีที่พ่อ แม่ พี่น้อง ครูอาจารย์ ที่มีให้กับตัวของเยาวชน  และควรส่งเสริมค่านิยมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย
            แต่ถ้าไม่อาจจะหักห้ามจิตใจได้ ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์ ก็ต้องไม่ลืมป้องกันตนเองโดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพราะเป็นสิ่งป้องกันตัวเองที่ปลอดภัยที่สุดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ และการตั้งครรภ์ เปรียบเสมือนว่า "สวมเสื้อผ้าเพื่อปกป้องร่างกาย สวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรค


“รักตัวเอง รักคู่ ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง กับทุกคน และทุกช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์มีความเสี่ยง


เรียบเรียงโดย  เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ  
ข้อมูลสถิติที่มา : 1. สำนักระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค  , สืบค้นเมื่อ 12 ก.พ.2561
                         2. 
องค์การอนามัยโลก (WHO)  , สืบค้นเมื่อ 12 ก.พ.2561

วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561

บทความทางวิชาการ ตอน โรคอุจาระร่วงเฉียบพลันในเด็กเขตเมืองใหญ่ ป้องกันอย่างไรดี ?

ความเป็นมา
           เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวของทุกปี ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอุณหภูมิเย็นลง  เป็นสาเหตุการเกิดโรคได้หลายชนิด เพราะเชื้อโรคจะมีชีวิตได้นานขึ้น และมีการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วขึ้น  หนึ่งในโรคดังกล่าวที่สำคัญมาก คือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในเด็ก (Acute diarrhea in children) เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและการตายในเด็กทั่วโลกจำนวนมาก  จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบรายงานผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงตลอดปี 2560 ในประเทศไทย ที่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 2.27 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 23 ของผู้ป่วยรวมทั้งหมด (9.85 แสนราย) และมีเด็กเสียชีวิตจำนวน 3 ราย และจำนวนผู้ป่วยที่เป็นเด็กจะพุ่งขึ้นสูงช่วงเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถึงประมาณเกือบ 25,000 รายต่อเดือนทีเดียว
          ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ประมาณร้อยละ 43 ในประเทศไทยพบว่าเด็กอายุ 1 ขวบเป็นโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าร้อยละ 60 และเด็กอายุ 2 ขวบเป็นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าถึงร้อยละ 80-90   โดยมีเด็กป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงที่เข้ารับการรักษาในคลินิก ประมาณ 131,000 รายต่อปี เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 56,000 รายต่อปี อัตราป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการเสียชีวิตลดลงเนื่องการดูแลรักษาที่ดีขึ้น


ผลกระทบ
           ประชาชนส่วนมากมักเข้าใจว่าโรคอุจจาระร่วงเกิดขึ้นเฉพาะช่วงฤดูร้อน ซึ่งถูกเพียงบางส่วน เพราะความจริงแล้วช่วงที่อากาศหนาวเย็น ก็เกิดโรคอุจจาระร่วงได้เช่นกัน โดยปกติแล้วเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี จะมีอัตราการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉลี่ยราว 3 ครั้งต่อปี  แต่โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในเด็ก มักจะพบได้มากในช่วงปลายฤดูฝน ต่อเนื่องจนถึงปลายฤดูหนาว คือ เดือน ตุลาคม ของปีก่อนหน้าถึง เดือน กุมภาพันธ์ ของปีนั้นๆ พบว่าโรคนี้มักเกิดกับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ หรือกำลังจะเลิกนมแม่ รวมทั้งเด็กที่ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่แม่เลี้ยง และพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง  
           เด็กเล็กกำลังเป็นวัยเรียนรู้ ชอบหยิบสิ่งของเข้าปาก  โรคนี้จึงเกิดจากการรับเชื้อโรคเข้าทางปาก  โดยเชื้อจะปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม น้ำใช้ และติดต่อกันได้ทางน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย หรือการสัมผัสกับเครื่องใช้ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ประตู หรือที่อื่นๆ ที่มองไม่เห็นเชื้อโรคด้วยตาเปล่า  ของเล่นต่างๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เมื่อเด็กจับแล้วนำมือเข้าปากก็ติดเชื้อได้ จึงยากที่จะระวัง
           เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญตัวหนึ่ง คือ ไวรัสโรต้า (Rota virus)  หรือที่เรียกว่า ไวรัสลงลำไส้  ซึ่งเชื้อโรคนี้ค่อนข้างทนและมีชีวิตอยู่ได้นานหลายวัน เป็นโรคที่ติดต่อง่ายมากแต่ป้องกันได้ยาก ทารกอายุ 3-4 เดือน ก็สามารถติดเชื้อได้ เด็กแทบทุกคนช่วง อายุ 2-3 ขวบ จะเคยเป็นโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้ามาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โรคนี้จึงพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี (ช่วงระยะหลังตรวจพบเชื้อในผู้ใหญ่ด้วย)   


               โดยเด็กมักมีอาการป่วยหลังได้รับเชื้อนี้ประมาณ 1 ถึง 2 วัน ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ และอาเจียนเป็นอาการเด่นหลัก  อาการไข้อาจมีอุณหภูมิร่างกายสูงถึง 39 องศาเซลเซียส และอาเจียนซึ่งอาจมากถึง 7-8 ครั้งต่อวัน  ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ซึ่งอาจมากถึง 7 ครั้งต่อวัน มีอาการปวดท้อง  มีลมหรือมีฟองในอุจจาระ อุจจาระอาจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว มีลักษณะเป็นกรด ทำให้ระคายเคืองผิวบริเวณรอบๆ ทวารหนัก จึงทำให้มักมีก้นแดง ถ่ายรุนแรงจนอาจมีเลือดหรือมูกเลือดปน
           ในเด็กที่กินนมผสมให้กินตามปกติ แต่ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งต่อมื้อ โดยให้ดื่มสลับกับน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอสครึ่งหนึ่ง อาการเด็กจะค่อยๆ ดีขึ้นเป็นปกติได้ภายใน 8-12 ชั่วโมง  แต่หากเด็กอาการรุนแรงถ่ายเหลวไม่หยุด  มีการซึมลง ไม่มีแรง มือเท้าเย็น ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ปัสสาวะวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลยมากกว่า 6 ชั่วโมง ปากแห้งมาก  ตาโหล ร้องให้ไม่มีน้ำตา  ในเด็กเล็กจะมีกระหม่อมบุ๋ม    เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียาหรือการรักษาโดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องพาเด็กไปนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล   
            โรคติดเชื้อชนิดนี้ ภายหลังการรักษาอย่างทันท่วงทีแล้ว ส่วนใหญ่แล้วเด็กจะดีขึ้นภายในเวลา 3 - 5 วัน ไข้จะลดลง อาเจียนลดลง ลักษณะอุจจาระจะค่อยๆ มีเนื้อเพิ่มมากขึ้น โดยปกติแล้วไม่เกิน 7 วัน เด็กมักจะหาย นอกเสียจากมีภาวะอื่นๆ แทรกซ้อนเช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรง หรือภาวะขาดน้ำที่รุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะช็อก และหากรักษาไม่ทันอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็กอ่อน  
           ในปัจจุบันมีการให้วัคซีนโรต้าในเด็กมากขึ้นในโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชน จึงทำให้พบการติดเชื้อโรต้าไวรัสลดลงกว่าแต่ก่อน แต่กลับพบรายงานเกิดไวรัสชนิดอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็กในลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้น เช่น เอนเทอโรไวรัส, โนโรไวรัส, แอสโตรไวรัส




บทสรุปคำแนะนำ
                ในเขตเมืองที่มีเด็กอยู่อาศัยอยู่ทุกชุมชน และมีโรงเรียนที่มีเด็กเล็กมาอยู่รวมกันจำนวนมาก   หน่วยงานสาธารณสุข ท้องถิ่น โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก ควรดำเนินการเชิงรุก กระตุ้นเตือนวิธีการป้องกันเด็กทารกและลูกหลานจากเชื้อไวรัสโรต้า วิธีการที่สำคัญคือ
            ในแม่หลังคลอดในชุมชนเมือง ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สม่ำเสมออย่างน้อย 6 เดือน เด็กเล็กจะได้รับภูมิต้านทานโรคนี้จากแม่ ควบคู่กับให้เด็กกินอาหารเหลวบ่อยๆ เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด เด็กจะไม่ป่วยง่าย  ส่วนการป้องกันในเด็กโรงเรียนอนุบาล หรือศูนย์เด็กเล็ก ครูและผู้ปกครอง ต้องเคร่งครัดการสร้างสุขอนามัยที่ดี การรักษาความสะอาด  หมั่นล้างมือให้เด็กด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ทำความสะอาดของเล่นบ่อยๆ เตรียมอาหารเด็กให้สุกด้วยความร้อน ดื่มน้ำที่ต้มสุกทำลายเชื้อโรคแล้ว และหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด แต่หากผู้ปกครองพิจารณาว่าวิธีการเหล่านี้ยังปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ อาจพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ก็จะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคนี้ได้
           การป้องกันโรคในประชาชนทั่วไป ให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนใหม่ๆ เสมอ หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล และล้างผักสด ผลไม้ ให้มั่นใจว่าสะอาดก่อนรับประทาน รวมทั้งภาชนะที่ใส่อาหารกินและดื่มต้องสะอาด เก็บไว้ในที่มิดชิด  ไม่ให้แมลงหรือสัตวืเลื้อยคลานไต่ตอม ใช้ช้อนกลางตักอาหาร  ล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากใช้ห้องน้ำ  ถังขยะควรมีฝาปิด กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงพาหะนำโรค          
 “โรคอุจาระร่วงเฉียบพลันในเด็กเขตเมืองใหญ่ ป้องกันได้ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือสะอาดบ่อยๆ”



เรียบเรียงโดย  เภสัชกรเชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ  
ข้อมูลสถิติที่มา : สำนักระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค  , สืบค้นเมื่อ 10 ม.ค.61