วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ยุงลายพาหะโรคไข้เลือดออก ออกลูกดกมาก ชอบกัดคนประเภทแบบไหน ?

         เนื่องจากโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ และไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ครบทุกสายพันธุ์  ยุงลายตัวเมียที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกเพียง 1 ตัว จะสามารถวางไข่ได้ครั้งละ 50-150 ฟอง ในช่วงชีวิต 60 วันของยุงตัวเมียหนึ่งตัว  จึงวางไข้ได้บ่อยราว 4-6 ครั้ง  ตลอดชีวิตของยุงลายตัวเมียจึงมีลูกได้ดกมากถึงราว 500 ตัว  



จากข้อมูลการศึกษาวิจัย พบว่า ยุงมักจะชอบกัดคน 6 ประเภทด้วยกัน ดังนี้คือ  
    1.  ยุงชอบกัดเด็กมากกว่าผู้ใหญ่เพราะกลิ่นและลักษณะผิวหนัง  
    2.  ยุงชอบกัดผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเพราะฮอร์โมนแตกต่างกัน  
    3.  ยุงชอบกัดคนที่หายใจแรงเพราะคาร์บอนไดออกไซด์จากลมหายใจจะเป็นตัวดึงดูดยุง  
    4.  ยุงชอบกัดคนที่ตัวร้อนเพราะอุณหภูมิบริเวณผิวหนังจะสูง  
    5.  ยุงชอบกัดคนที่มีเหงื่อออกมาก  
    6.  ยุงชอบกัดคนที่ใส่เสื้อผ้าสีเข้ม  

           แต่ทุกคนก็มีโอกาสโดนยุงกัดได้หมด  ควรระวังและป้องกันตัวไม่ให้ถูกยุงกัดจะดีที่สุด  หากสงสัยบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้สูงลอยนานเกิน 2 วัน ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะหรือปวดกระบอกตา อาจพบจุดเลือด ที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยเป็นไข้เลือดออก และรีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ให้ระลึกเสมอว่าฤดูฝนนี้เป็นช่วงของการระบาดของโรคไข้เลือดออก อย่านิ่งนอนใจ
           ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ โดยการตัดตอนวงจรชีวิตของยุงจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด  โดยการป้องกันไม่ให้ยุงวางไข่ได้  หรือไข่แล้วก็ไม่ให้กลายเป็นยุง  เน้นที่การควบคุมลูกน้ำด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ เนื่องจากสามารถทำลาย ได้ง่ายและไม่สิ้นเปลือง
            คำแนะนำการป้องกันไม่ให้ยุงกัด คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ฉีดไล่ยุง เครื่องไล่ยุงไฟฟ้า ใช้ยาจุดกันยุง  ยาทากันยุงกัด หรือใช้กลิ่นของสมุนไพรไล่ยุง เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น  การนอนในมุ้ง ติดมุ้งลวด หรือเปิดพัดลมไล่ยุง



            ส่วนกลยุทธ์การปฏิบัติเมื่อมีคนในบ้านหรือข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก  คือ  ควรจะบอกคนในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้เลือดออก ให้สมาชิกในครอบครัว ป้องกันการถูกยุงกัดตามคำแนะนำ  เนื่องจากไข้เลือดออกระบาดโดยมียุงลายเป็นพาหะแพร่เชื้อ เพื่อให้คนในชุมชนเตรียมการป้องกันตนเองและคนในบ้าน  แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อมาดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคทันที 
          สำรวจภายในบ้าน รอบบ้าน รวมทั้งเพื่อนบ้านว่ามีแหล่งแพร่พันธุ์ยุงหรือไม่ หากมีให้จัดการเสีย  เฝ้าดูอาการของสมาชิกในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้หรือไม่ หากมีไข้ให้ระวังว่าอาจจะเป็น ไข้เลือดออก  ให้ผู้ป่วยนอนในมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด



ที่มา :  1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
           2. สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 พิษณุโลก
ผู้เรียบเรียง : ภก.เชิดเกียรติ  แกล้วกสิกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น